ร.ต.ท. ยื่นใบลาออก เหตุต้องเดินทางไปกลับ 100 กม. ขอย้ายกลับภูมิลำเนาไม่ได้รับการพิจารณา ขอไปทำอาชีพอื่นเพื่อสุขภาพจิตที่ดีขึ้น

(16 มี.ค.66) สื่อสังคมออนไลน์พากันแชร์เอกสารบันทึกข้อความของ ร.ต.ท.นายหนึ่ง ตำแหน่ง รอง สว.(สอบสวน) สน.บางโพงพาง ขอลาออกจากราชการเอกสารที่เขียนถึง ผู้กำกับการ สน.บางโพงพาง ระบุว่า

“ด้วยกระผม ร.ต.ท. …… ตำแหน่ง รอง สว.(สอบสวน) สน.บางโพงพาง มีความประสงค์จะขอลาออกจากราชการไปประกอบอาชีพอื่น เนื่องด้วยที่ทำงานอยู่ไกลจากภูมิลำเนา จำเป็นต้องเดินทางไปกลับประมาณ 100 กิโลเมตร ทุกผลัดที่เข้าเวร ได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก และขอไปดำรงตำแหน่งใกล้บ้านก็ไม่ได้รับพิจารณาให้ไปตามที่ได้ร้องขอแต่อย่างใด กระผมไม่เคยคิดจะย้ายออกจากงานสอบสวนแม้แต่วินาทีเดียว เพียงแค่ขอกลับไปทำงานใกล้ภูมิลำเนา หากองค์กรไม่สามารถให้กระผมได้ ได้โปรดเห็นใจอนุญาตให้ผมออกไปประกอบอาชีพอื่นเพื่อสุขภาพจิตที่ดีขึ้น”

ล่าสุด ทีมข่าวติดต่อไปยัง ร.ต.ท. รอง สว.สอบสวน สน.บางโพงพาง รายนี้ ได้รับการยืนยันว่าเอกสารขอลาออกฉบับดังกล่าวเป็นฉบับจริง ส่วนรายละเอียดอื่นๆ ยังไม่สะดวกให้ข้อมูล

​ล่าสุด บช.น. ได้ทำการตรวจสอบข้อเท็จจริง และขอชี้แจงสาเหตุที่ นายตำรวจรายนี้ ไม่ได้รับการพิจารณา เนื่องจากเจ้าตัวเพิ่งได้รับการแต่งตั้งเป็น รอง สว.(สอบสวน) สน.บางโพงพาง ซึ่งเป็นไปตามคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ 128/2564 ลงวันที่ 10 มี.ค.2564 มีเงื่อนไขแนบท้ายว่า จะต้องปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งที่ได้รับแต่งตั้งเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 4 ปี จึงจะมีสิทธิได้รับการพิจารณาแต่งตั้งไปดำรงตำแหน่งอื่นได้ โดยนายตำรวจรายนี้ทราบข้อเท็จจริงอยู่ก่อนแล้วว่า ตนเองดำรงตำแหน่ง รอง สว.(สอบสวน) สน.บางโพงพาง ตั้งแต่วันที่ 16 มี.ค.2564 ต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันเป็นระยะเวลาเพียง 2 ปีเท่านั้น จึงอยู่ในเงื่อนไขที่ไม่สามารถแต่งตั้งไปดำรงตำแหน่งอื่นได้

​บช.น. ขอเรียนให้พี่น้องประชาชนทราบว่า บช.น. ได้ให้ความเป็นธรรมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจทุกนาย ในการพิจารณาแต่งตั้งโยกย้าย ซึ่งการย้ายไปดำรงตำแหน่งใหม่สามารถดำเนินการได้ หากปฏิบัติหน้าที่ได้ครบตามเงื่อนไขท้ายคำสั่งดังกล่าว อนึ่ง กรณีปรากฎร่างคำสั่งแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ ระดับ รอง สว. – ผบ. หมู่ ประจำปี 2566 ในสื่อสังคมออนไลน์ ว่าร่างคำสั่งแต่งตั้งดังกล่าวมีการระบุตำแหน่งผิดพลาดจากความเป็นจริง นั้น จากการตรวจสอบร่างคำสั่งพบว่าเป็นร่างคำสั่งที่ยังไม่ได้รับการตรวจทานลงนามจากผู้มีอำนาจแต่อย่างใด อาจจะเกิดจากความผิดพลาดทางธุรการ ทำให้ร่างคำสั่งดังกล่าวเผยแพร่ไปในสื่อสังคมออนไลน์