หลังศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 5:4 มีคำสั่งให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีจนกว่าศาลฯ จะมีคำวินิจฉัย พร้อมทั้งรับคำร้องจากพรรคร่วมฝ่ายค้านที่ยื่น 171 รายชื่อ ต่อ ชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 17 ส.ค. 2565 เพื่อขอให้ศาลฯ พิจารณาวินิจฉัยว่า ความเป็นรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สิ้นสุดลงเนื่องจากดำรงตำแหน่งครบกำหนดเวลา ตาม มาตรา 170 วรรค 2 และมาตรา 158 วรรค 4 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ซึ่งคาดว่าจะมีคำวินิจฉัยภายในเดือนกันยายนนี้

ผลทำให้ระหว่างนี้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ต้องปฏิบัติหน้าที่รักษาการนายกรัฐมนตรีแทน พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่ง พล.อ.ประวิตร คือ พี่ใหญ่ของกลุ่มแยกบูรพาพยัคฆ์และกลุ่ม 3 ป. คือ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา และพล.อ.ประยุทธ์

พล.อ.ประวิตร เคยดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกระหว่างปี 2547-2548, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมระหว่างปี 2551-2554 ในรัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ 2557-2562 ในรัฐบาล คสช., อดีตรองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และปัจจุบันเป็นหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ​ ที่เป็นผู้มากบารมีคุมเกมส์ คุมมุ้งต่างๆ ให้ยังอยู่ภายใต้พรรคพลังประชารัฐ

นอกจากนี้ พล.อ.ประวิตร ยังมีฐานที่มั่นสำคัญคือ มูลนิธิป่ารอยต่อ 5 จังหวัด ที่เป็นสถานที่นัดพบและทานข้าวกันของ 3 ป. หรือกลุ่ม ส.ส. พลังประชาชรัฐ, ส.ส. พรรคเล็ก, รวมทั้ง ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า หัวหน้าพรรคเศรษฐกิจไทย อดีตมือขวา พล.อ.ประวิตร

รังสิมันต์ โรม ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เคยอภิปรายไม่ไว้วางใจ และอ้างอิงว่ามูลนิธิป่ารอยต่อฯ พื้นที่ชุมนุมกลุ่มคอนเน็กชั่นทางการเมือง เป็นศูนย์รวมนักธุรกิจ ข้าราชการระดับสูง ทั้งในฝ่ายพลเรือน และฝ่ายความมั่นคงทั้ง 3 เหล่าทัพ รวมทั้งตัวแทนจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้บริหารรัฐวิสาหกิจ ที่มักปรากฏในวาระสำคัญ เช่น งานเลี้ยงวันคล้ายวันเกิดของ พล.อ.ประวิตร ปี 2560 เป็นต้น

พิเชษฐ สถิรชวาล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ฐานะหัวหน้ากลุ่ม 16 เคยให้ข่าวตอบโต้ ร.อ.ธรรมนัส กรณีไลน์หลุดใบเสร็จรับเงินพรรคเล็กเดือนละแสนบาท ว่า เรื่องทั้งหมดเกิดที่มูลนิธิป่ารอยต่อ ขอให้ไปถาม พล.อ.ประวิตร ที่มอบให้ ร.อ.ธรรมนัส ดูแลในขณะนั้น ซึ่งถือว่าเป็นการยืนยันว่าที่นั่นเป็นสถานที่ที่ พล.อ.ประวิตร ใช้เป็นฐานบัญชาการการเมืองก็ว่าได้

ส่วนสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ลงมติให้ พล.อ.ประยุทธ์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ 24 ส.ค. 2557 พรรคร่วมฝ่ายค้านจึงนับว่าครบ 8 ปีในวันที่ 23 ส.ค. 2565 เช่นเดียวกับ ลอย ชุนพงษ์ทอง นักคณิตศาสตร์ ที่ตั้งข้อสังเกตว่า พล.อ.ประยุทธ์ ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อ ป.ป.ช. ในกรณีที่เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเพียงแค่ครั้งเดียวคือปี 2557 อาจจะเป็นหลักฐานว่าปฏิบัติหน้าที่มาต่อเนื่อง 8 ปี

อย่างไรก็ตามยังมีอีก 2 แนวทางการคำนวณ คือ นับตั้งแต่วันที่ 6 เม.ย. 2560 คือวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 จะถือว่า พล.อ.ประยุทธ์ ดำรงตำแหน่งมาแล้ว 6 ปี และถ้านับตั้งแต่วันที่ 9 มิ.ย. 2562 ที่มีการโปรดเกล้าฯ ให้เป็นนายกฯ สมัยที่ 2 หลังการเลือกตั้งใหญ่เมื่อเดือน มี.ค. 2562 พล.อ.ประยุทธ์ จะดำรงตำแหน่งมาเพียงแค่ 4 ปี