โฆษก กทม. แจ้งคิวงาน “ชัชชาติ” ไปทำอะไรที่ลอนดอน หลัง “ศรีสุวรรณ” บ่นถึง ยันผู้ว่าฯ ไม่ได้ทิ้ง สั่งงานก่อนไป

จากกรณี นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. ไลฟ์ผ่านเพจเฟซบุ๊ก เผยว่าตอนนี้อยู่ที่ลอนดอน ประเทศอังกฤษ กำลังเตรียมประชุมกับคนของทางสำนักงานเทศบาลกรุงลอนดอน ศึกษาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และตอนบ่ายจะไปดูวิธีป้องกันจัดการน้ำท่วม เพื่อจะนำมาปรับปรุงเมืองให้ดีขึ้น

แต่ต่อมา  นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้โพสต์ถึง นายชัชชาติ ระบุว่า “ปัญหาฝุ่นยังล้นเมือง แต่ชัชชาติกลับลาไปไลฟ์อยู่ลอนดอน ก็ไหนบอกเวลามีน้อยต้องรีบทำงาน ทำงาน ทำงาน ชาว กทม. 1.38 ล้านคนว่าไงคะ”

นายเอกวรัญญู อัมระปาล โฆษกของกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงการเดินทางไปที่กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร (ประเทศอังกฤษ) ของนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ระหว่างวันที่ 6 – 8 ก.พ.66 เป็นไปตามคำเชิญของสถานเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย ภายใต้ความร่วมมือการจัดซื้อจัดจ้างแบบเปิด (Open procurement) และการเปิดเผยข้อมูลศักยภาพสูงของกรุงเทพมหานคร (Open Bangkok)

เพื่อแลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์และหารือการสานต่อความร่วมมือในอนาคต รวมถึงแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานต่างๆ ซึ่งสอดคล้องกับแนวนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และสร้างประโยชน์จากการนำข้อมูลต่างๆ มาใช้ในการแก้ไขปัญหา พัฒนาและยกระดับชีวิตพี่น้องชาวกรุงเทพมหานคร โดยค่าใช้จ่ายในการเดินทางเยือนกรุงลอนดอนครั้งนี้ ฝ่ายผู้เชิญเป็นผู้รับผิดชอบทั้งหมด

“การเดินทางเยือนกรุงลอนดอนของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครครั้งนี้ไม่ใช่เป็นการทิ้งงานหรือปล่อยให้พี่น้องชาวกรุงเทพมหานครเผชิญกับวิกฤตฝุ่นพิษอย่างที่มีการกล่าวหา เพราะก่อนเดินทางไปผู้ว่าฯได้สั่งการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบและประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ แก้ไขปัญหาเพื่อช่วยเหลือประชาชนไว้แล้ว” โฆษก กทม.กล่าวย้ำ

สำหรับภารกิจการเยือนกรุงลอนดอนของผู้ว่าฯ ชัชชาติ มีดังนี้

6 กุมภาพันธ์ 66

  • ประชุมหารือร่วมกับหัวหน้าฝ่ายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของกรุงลอนดอน ณ ศาลาว่าการกรุงลอนดอน เพื่อหารือเกี่ยวกับการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะประเด็นเกี่ยวกับความเสี่ยงด้านน้ำท่วม ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากในพื้นที่ กทม.
  • พบปะเจ้าหน้าที่ระดับสูงด้านดิจิทัลของกรุงลอนดอน (Chief Digital Officer) และแนะนำ London Data Store ณ ศาลาว่าการกรุงลอนดอน เพื่อหารือการดำเนินการด้าน open data ของกรุงลอนดอนโดยมุ่งประโยชน์สำหรับภาคธุรกิจและประชาชน
  • เยี่ยมชมผนังกั้นแม่น้ำเทมส์ (Thames Barrier) ณ ห้องศูนย์ข้อมูลผนังกั้นแม่น้ำเทมส์ และพบกับนาย Andy Batcher ผู้จัดการฝ่ายปฏิบัติการ หน่วยป้องกันระดับน้ำของแม่น้ำเทมส์และสำนักงานสิ่งแวดล้อม
  • พบปะกับ Open Data Institute – หุ้นส่วนความร่วมมือที่สนับสนุนกรุงเทพมหานครด้านความร่วมมือ Open Bangkok

7 กุมภาพันธ์ 66

  • หารือกับนาย David Halpern ประธาน Behavioural Insights Team (BIT) เพื่อหารือกับเกี่ยวกับการศึกษานวัตกรรมด้านพฤติกรรมศาสตร์เพื่อสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อคน สังคม และหน่วยงานที่ประสบความสำเร็จ ซึ่งสอดคล้องกับแนวนโยบายบริหารจัดการที่ดี
  • ประชุมร่วมกับผู้รับผิดชอบการคมนาคมลอนดอน (Transport for London : TfL) เพื่อหารือแนวทางการดำเนินการด้านการเชื่อมต่อการขนส่งของกรุงลอนดอน
  • เยี่ยมชมศูนย์การควบคุมบริหารจัดการเครือข่าย TfL ศูนย์ดิจิทัลที่ดูแลควบคุมทั้งเครือข่ายการขนส่งอย่างเป็นระบบ ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการนำข้อมูลที่ได้มาใช้ประโยชน์ในการปรับปรุงระบบขนส่งมวลชนและแก้ไขปัญหาการคมนาคมของกรุงเทพมหานคร เพื่อให้สะดวกสบายต่อพี่น้องประชาชน
  • พบปะและหารือกับผู้บริหาร Royal Town Planning Institute (RTPI) สถาบันที่มีชื่อเสียงมากจากผลงานด้านการวางผังเมือง เพื่อรับมือสภาพอากาศ บริษัท Mott MacDonald (MM) บริษัทชั้นนำระดับโลกด้านการจัดการน้ำท่วมและโครงสร้างพื้นฐาน และ Town and Country Planning Association (TCPA) ที่มีชื่อเสียงในฐานะผู้ริเริ่มสวนในเมือง เพื่อพูดคุยในประเด็นการการเตรียมพร้อมรับมือสภาพอากาศ น้ำท่วม และโครงสร้างพื้นฐานสาธารณะในอนาคต
  • ประชุมกับหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมอังกฤษ (UK Environment Agency เพื่อหารือการจัดการน้ำท่วมในกรุงลอนดอน และปากแม่น้ำเทมส์ (Thames Estuary) (กรณีศึกษา Thames Estuary 2100 แผนการจัดการน้ำท่วมในแม่น้ำเทมส์ 2100 ซึ่งได้รับเลือกให้เป็นตัวอย่าง แนวปฏิบัติที่ดีจากองค์การ C40) และผนังกั้นแม่น้ำเทมส์ (Thames Barrier)
  • พบปะผู้บริหารสถานีพลังงานเบตซี (Battersea Power Station) Arup บริษัทไม่แสวงหาผลกำไรที่เน้นการพัฒนาเมืองที่ยั่งยืนและการเตรียมพร้อมรับมือน้ำท่วมทั่วโลก
  • หารือร่วมกับ Open Contracting Partnership หน่วยงานร่วมดำเนินการซึ่งสนับสนุนนโยบายเปิดเผยข้อมูลศักยภาพสูงของกรุงเทพมหานคร (Open Bangkok)

8 กุมภาพันธ์ 66

  • ประชุมร่วมกับ Ms. Elena Williams ผู้เชี่ยวชาญด้านการค้าโลก Head of Global Programmes และ Connected Places Catapult หน่วยงานบ่มเพาะนวัตกรรมของภาครัฐ เน้นด้านเครื่องมือดิจิทัล/ไฮเทค สำหรับการวางผังเมืองและการขนส่ง
  • ประชุมกับศูนย์วิจัยเมือง UCL และเยี่ยมชมการฟื้นฟูอุทยานโอลิมปิกราชินีเอลิซาเบธ ซึ่งเดิมชื่อว่าอุทยานโอลิมปิกลอนดอน ซึ่งเป็นศูนย์กีฬาและสวนสาธารณะซึ่งจัดสร้างสำหรับกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน 2012 และการแข่งขันพาราลิมปิกฤดูร้อน 2012 ซึ่งสอดคล้องกับแนวนโยบายในการพัฒนาพื้นที่สาธารณะอเนกประสงค์ทั่วกรุงเทพมหานคร