รายการโหนกระแส วันนี้ เปิดใจ แม่เด็กนักเรียน 1 ใน 3 ถูก “เสี่ยต้อย” หลอนยาเอาปืนยิงเสียชีวิต ลั่นแค่ขอโทษไม่ได้ ต้องชดใช้ เอาให้ตาย ประหารได้ยิ่งดี

กรณีเหตุสะเทือนขวัญ “ไอ้ต้อย” ธีรศักดิ์ บุญเรือง อายุ 42 ปี ก่อเหตุใช้อาวุธปืนยิงเด็กอายุ 18 ปี นักเรียนชั้น ม.6 โรงเรียนพนมเบญจา เสียชีวิต 3 ศพ เป็นชาย 1 ศพ และหญิง 2 ศพ เหตุเกิดเมื่อเวลา 02.00 น. วันที่ 6 ก.ย. ที่ผ่านมา สาเหตุเกิดจากการเสพยาเสพติดจนเกิดอาการหลอนยา  

รายการโหนกระแสวันที่ 7 ก.ย. 65  ดำเนินรายการโดย “หนุ่ม กรรชัย กำเนิดพลอย” ผลิตในนามบริษัท ดีคืนดีวัน จำกัด ออกอากาศทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 12.35 น. ทางช่อง 3 กดเลข 33 สัมภาษณ์ อาภาภรณ์ อินทรจิต แม่น้องแพร ผู้เสียชีวิต , น้องพราว ภัณฑิลา  ชูทอง น้องสาวฝาแฝดของแพร , ลุงเจมส์ จักรพงศ์ อุดมศรี ลุงน้องคิมหันต์ ผู้เสียชีวิต, ว่าที่ร้อยตรีธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม,  รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล ผู้ช่วยอธิการบดี และประธานกรรมการอาชญาวิทยา ม.รังสิต

เหตุการณ์เกิดอะไรขึ้น?

แม่อาภาภรณ์ : น้องออกไปทำงานกับเพื่อน แล้วกลับมาเอาเสื้อผ้าไปโรงเรียนวันรุ่งขึ้น แล้วก็เกิดเหตุค่ะ

ตอนแรกแพรอยู่บ้านใคร?

พราว : ตอนเย็นออกกันไปที่บ้านน้ำฝน ผู้เสียชีวิต คนไปมีคิมหันต์ แพร หลังจากนั้นช่วงประมาณสี่ทุ่มก็ชวนกันกลับบ้านเพื่อเอาเสื้อผ้าเพื่อออกไปบ้านฝนต่อ เพราะงานที่ทำกันยังไม่เสร็จ มันดึก จะกลับบ้านไปเอาผ้ามานอนค้างที่นั่น รุ่งเช้าจะได้ไปโรงเรียนกันค่ะ

เด็กสามคนทำกิจกรรมกัน แล้วงานยังไม่เสร็จ จำเป็นต้องไปเอาเสื้อผ้าเพื่อมาพักที่บ้านฝน เขามุ่งหน้าไปบ้านแพรก่อน?

พราว : ใช่ค่ะ

บ้านแพรห่างจากบ้านฝนแค่ไหน?

พราว : ประมาณ 11 กิโลค่ะ

ซ้อนสามกันมา รถมอเตอร์ไซค์เป็นของใคร?

พราว : เป็นรถของแพรค่ะ คิมหันต์เป็นคนขี่รถให้ค่ะ คนที่สองที่นั่งคือฝน แพรนั่งหลังสุดค่ะ

ลุงเจมส์ : คิมหันต์เขากำลังจะกลับบ้าน ก่อนไปเอาผ้า ความจริงแล้ว แพรกับฝนจะไปกันสองคน คิมหันต์จะกลับบ้าน แต่ขออาสาขับรถไปให้ เพราะห่วงผู้หญิงสองคน ตอนนั้นอยู่บ้านฝนอยู่กัน 5 คน น้องเขาจะกลับบ้าน ตอนนั้นพราวอยู่ด้วย คิมหันต์ไปส่งน้องอีกคนโดยซ้อน 4 กันไป

จากนั้นน้องคนนั้นลงไปก่อน เหลือสามคน?

ลุงเจมส์ : แล้วสามคนจะกลับไปบ้านย่าแพรเพื่อเอาเสื้อ แล้วจะกลับมาเจอกันที่บ้านฝนอีกที

คิมหันต์อาสาขี่ให้ ทั้งที่ตัวเองจะกลับบ้าน หลังจากนั้นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ถนนเส้นนั้นเรียกว่าอะไร?

แม่อาภาภรณ์ : เขาพนมทุ่งใหญ่ค่ะ

ระหว่างขี่ไปเกิดเหตุอะไรขึ้น?

แม่อาภาภรณ์ : ก็มีรถสวนกัน ฝั่งคนที่ทำมาจากฝั่งพนม น้องจะกลับบ้านฝั่งทุ่งใหญ่เข้าเขาพนม ก็สวนกันตรงนั้น หลังจากนั้นไม่รู้รายละเอียดเท่าไหร่ แต่ตามที่เห็นในกล้องวงจรปิดเลย ภาพในกล้องวงจรปิดเราไม่เห็น แต่เห็นสภาพน้องแล้ว ทำใจได้ค่ะ

คุณลุงทราบเรื่องได้ยังไง?

ลุงเจมส์ : ทราบตอนตีสาม ตอนนั้นข่าวลงในเฟซ แต่ไม่รู้ชื่อ ไม่รู้รายละเอียด แล้วเพื่อนลูกสาวผมส่งอินบ็อกซ์มาว่าให้มาดู ไม่รู้เป็นคิมหันต์มั้ย พอไปถึงที่เกิดเหตุก็ไม่มั่นใจว่าเป็นเขามั้ย เพราะรถก็ไม่ใช่รถเขา ตร.อยู่ในพื้นที่แล้ว เขาไม่ให้เข้าไป ผมก็รอดูเกือบ 2 ชม. จนเขายกศพก่อนส่งรพ. ก็ได้เห็นน้อง

ตร.ทราบได้ไงว่าเป็นไอ้ต้อย หรือเสี่ยต้อย?

ลุงเจมส์ : ตอนอยู่ในที่เกิดเหตุตร.ก็ถาม แต่ผมไม่ทราบมาก่อน เพราะน้องไม่มีปัญหากับใครเลย น้องเด็กดีมาตลอด เล่นแต่กีฬา อยู่ๆ มาเกิดเหตุการณ์แบบนี้ ผมไม่มีข้อมูลให้ตร.เลย คิมหันต์เล่นฟุตบอลโรงเรียนและจังหวัด ส่วนน้องผู้หญิงก็เป็นนักกีฬาทั้งนั้น น้ำฝนเป็นนักเปตอง

ก่อนแพรออกจากบ้านได้พูดอะไรมั้ย?

พราว : ไม่ได้พูดเหมือนมีลางอะไร ก็พูดคุยกันปกติ หยอกล้อกันปกติเลย ไม่มีอะไรเลย ตอนนั้นอยู่กัน 4 คน มีเพื่อนสามคนที่เสียชีวิตก็คุยกันปกติเลย

ตร.สืบทราบมาว่าผู้ก่อเหตุคือไอ้ต้อยหรือเสี่ยต้อย เหตุที่เกิดเพราะไอ้ต้อยขับรถมาถนนเขาพนม มุ่งหน้ามา ส่วนน้องเองขับเข้าเขาพนม ทางเป็นเลนสวนกัน ไอ้ต้อยขับรถเบี่ยงไปเลนน้องแล้วพุ่งชนประสานงา รถกระเด็นตกข้างทาง เขาหยุดรถแล้วก่อเหตุยิง ตร.เขาเห็นภาพจากกล้องวงจรปิด เห็นรถบีเอ็มคันนี้ขับไปด้วยความเร็ว เขารู้เลยว่าเป็นรถของใคร เขาไปจับไอ้ต้อยที่ร้านขายยางซ่อมแม็กซ์ ไปถึงตร.เรียกไอ้ต้อยให้ออกมา แต่ไอ้ต้อยไม่ออก ใช้เวลานานมาก สุดท้ายพ่อแม่ต้อยมา ไอ้ต้อยแง้มประตูออกมา ในมือกำอาวุธปืน 1 กระบอก หลังจากนั้นกึ่งเดินหนี และกล้าปะทะกันตร. แต่ไอ้ต้อยน่าจะเห็นพ่อตัวเองยืนอยู่ข้างตร. เลยหยุดชะงัก ก็เลยยอมทิ้งปืนมอบตัว ตร.สอบถามว่าเกิดอะไรขึ้น ไอ้ต้อยบอกว่ากินยาบ้าไป 2 เม็ด แล้วรู้สึกหลอน เหมือนมีคนจะตามฆ่า พอเห็นรถมอเตอร์ไซค์มาก็พุ่งชนไว้ก่อน เพราะคิดว่าคนกลุ่มนี้จะฆ่าเขา แล้วก็ลงมาก่อเหตุยิง นี่คือความสูญเสียของครอบครัวเขาสามคน ขอถามอาจารย์ในฐานะประธานกรรมการอาชญาวิทยา พฤติกรรมไอ้ต้อยจะอ้างได้มั้ยว่ามีพฤติกรรมทางจิต?

ดร.กฤษณพงค์ : จริงๆ แล้วปกติคนร้ายเวลาก่อเหตุจะมีเหตุผลกล่าวอ้างแตกต่างกัน คนนี้ถ้าจะกล่าวอ้างว่ามีอาการทางจิตหรือหลอนเพราะเสพยา โดยเฉพาะการเสพยา ไม่มีใครบังคับให้เสพ หรือถูกหลอกให้เสพ เจตนาเสพด้วยตัวเอง ฉะนั้นจะเป็นข้อกล่าวอ้างให้พ้นผิดตามกฎหมายไม่ได้

ดูทรงพฤติกรรมไอ้ต้อย น่าจะเป็นแบบนี้มานานแล้ว?

ดร.กฤษณพงค์ : ดูจากพฤติกรรมที่ก่อเหตุ จากที่ติดตามข่าว เขาก็เคยก่อเหตุลักษณะเดียวกันมาก่อน สุดท้ายศาลฎีกายกฟ้อง ตามข่าว ก็สะท้อนให้เห็นว่าพฤติกรรมที่กระทำต่อเนื่องซ้ำๆ ยังไม่ได้รับการแก้ไขฟื้นฟู ยังไม่เลิก สุดท้ายก็มาก่อเหตุในลักษณะนี้เกิดขึ้นอีก ก็ต้องขอชื่นชมตร. ที่ใช้เทคนิคนำครอบครัวผู้ถูกกล่าวหามาเจรจาจนไม่เกิดการสูญเสีย เท่าที่ติดตามข่าวคดีนี้สะเทือนขวัญ ตกใจเหมือนกัน เพราะน้องๆ เป็นเยาวชนที่เสียชีวิต เราก็ต้องกลับมาทบทวนมาตรการของรัฐในเชิงเฝ้าระวัง ป้องกัน โดยเฉพาะเรื่องยาเสพติด ผมได้รับการร้องขอจากกระทรวงยุติธรรมให้วิเคราะห์อาชญากรรมเป็นเวลา 5 ปีต่อเนื่อง ยาเสพติดเป็นปัญหาอันดับหนึ่งของประเทศไทย

ไอ้ต้อยบอกว่าซื้อมา 10 เม็ด 300 หาซื้อกันง่ายเหมือนซื้อท็อปฟี่ ปืนก็หาซื้อในอินเตอร์เน็ต ก่อเหตุไม่เว้นแต่ละวัน?

ดร.กฤษณพงค์ : สังคมสงบสุขได้ เราไม่ควรเลิกทำเฉพาะคดีใหญ่ๆ แต่เขาบอกว่าต้องทำตั้งแต่เรื่องเล็กๆ ทุกเรื่อง เขามีหลักวิชาการอยู่ เพื่อที่คนก่อเหตุเล็กๆ จะได้ไม่ก่อเหตุในระดับที่รุนแรงมากยิ่งขึ้น

มันเคยก่อเหตุยิงบ้านตัวเอง พ่นสีประกาศขาย บอกว่ามีปัญหาภายในครอบครัว มันหลอนและคิดว่าภายในครอบครัวมีปัญหา เป็นบุคคลอันตรายมาก?

ดร.กฤษณพงค์ : ต้องยอมรับว่าเป็นบุคคลที่ใช้ความรุนแรงมากครับ

เห็นว่าไอ้ต้อยเคยก่อเหตุมาก่อน?

ลุงเจมส์ :   เคยมีคดีฆ่าผู้หญิง 2-3 ปี แต่ไม่แน่ใจว่าผู้หญิงท้องด้วยหรือเปล่าในตอนนั้น ทางศาลชั้นต้นเป็นโทษประหาร อุทธรณ์ตลอดชีวิต และยกในชั้นฎีกา

หลังจากนั้นผ่านไป 2 ปี เมายาอีก เสพยาตลอด และมาก่อเหตุ หลังมีการจับตัวไอ้ต้อยไป เขาพูดวกไปวนมา ตอนแรกบอกว่าเขากินยาบ้าไป 2 เม็ด แล้วหลอน อีกทีบอกว่ากินไป 10 เม็ด นอนไม่หลับ หลอน เขาบอกว่าเขาขอโทษ?

แม่อาภาภรณ์ : พูดแค่นั้นไม่ได้หรอกค่ะ ต้องชดใช้มากกว่านั้น

ลุงเจมส์ : มันน้อยไปครับ อีกอย่างอยากให้โทษประหารไปเลย

แม่อาภาภรณ์ : เห็นเขาตั้งแต่เด็กๆ (ร้องไห้) เขาเป็นเพื่อนรักกัน อยากให้จัดการให้ถึงที่สุด (ร้องไห้)

วันนี้ที่แม่น้องแพรและลุงคิมหันต์มาวันนี้ เพราะเขาอยากเจอกระทรวงยุติธรรม อยากเรียกร้องให้เรื่องนี้ถึงที่สุด เพราะไอ้นี่หนักมาก ดูภาพที่เมาแล้วอาละวาดในคุก นี่คือพฤติกรรมของมัน ทั้งที่ถูกจับไปแล้ว ยังก่อเหตุแบบนี้ ที่สำคัญคดีฆ่าที่คุณลุงเล่าให้ฟัง มันเป็นผู้จ้างวานฆ่า ไม่ได้ยิงเอง แต่มือปืนซัดทอดว่าไอ้ต้อยเป็นคนจ้างวาน มันสู้คดีจนหลุดออกมาได้ เห็นว่าหมดเงินไปเยอะในการสู้คดี?

แม่อาภาภรณ์ : ที่รู้ๆ มันชอบขี่รถไปชนคน หลายคนแล้ว ล่าสุดก็ญาติน้องนี่แหละ เป็นพ่อตาของญาติน้องนี่แหละ ตอนแรกบอกจะให้ค่าเยียวยา 6 หมื่น แต่ตอนหลังก็ไม่ถึง

แบบนี้ ชีวิตอยู่ยังไง?

ดร.กฤษณพงค์ : เรามองย้อนกลับไปที่ชีวิตคนๆ คน ตั้งแต่คลอด เติบโตผ่านการเลี้ยงดู ขัดเกลาทางสังคม ระบบการเลี้ยงดูในครอบครัว ระบบการศึกษา จะทำให้คนๆ นึงเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์แบบ แต่กรณีผู้ต้องหาที่ก่อเหตุ เชื่อว่าเขาเริ่มทำสิ่งไม่ถูกต้อง และพฤติกรรมไม่ได้รับการแก้ไข ฟื้นฟู จนกระทั่งเขาละเมิดกฎหมายมากขึ้น ระดับความแรงมากขึ้น พฤติกรรมเหล่านี้ถ้าไม่ได้รับการฟื้นฟู หรือได้รับโทษ ก็จะทำให้เขาย่ามใจก่อเหตุรุนแรงเพิ่มขึ้น จนมาก่อเหตุนี้อีกครั้งนึง

ครอบครัวไอ้ต้อยก็รู้หมดว่ามันติดยา แต่ไม่พาไปรักษา?

ลุงเจมส์ :   ตอนนี้เด็กแถวบ้าน สองสามทุ่มไม่กล้าออกจากบ้าน เพราะยาบ้าเกลื่อนหมดแล้ว โดยเฉพาะพื้นที่เขาพนม กระบี่นี่แหละ เยอะมาก เกิน 3 ทุ่มไม่กล้าให้ลูกสาว หลานสาวออกจากบ้าน แม้แต่ไปเซเว่นข้างๆ บ้านก็ไม่กล้าให้ไป ผู้ใหญ่ก็ไม่กล้าออกเหมือนกัน คนเมายาเยอะมากครับ

กลัวมั้ยลูก เราก็เป็นเยาวชน?

พราว : กลัวเหมือนกันค่ะ

ลุงเจมส์ : ผมไมเข้าใจตรงที่ ลูกหลานครอบครัวของเขาที่ติดยาเสพติด รู้ว่ากฎหมายจะจับกุมสักทีต้องมีหลักฐาน แต่อาการหลอนยาแบบนี้ จับไม่ได้ แต่พ่อแม่ครอบครัวเขาก็ปล่อยให้อยู่สภาพนี้ ทำไมไม่รักษา

เขามีเส้นสายมั้ย ทำไมกร่างขนาดนี้?

ลุงเจมส์ : ผมก็ไม่ทราบ แต่รู้ว่าเขามีฐานะ

แม่อาภาภรณ์ : ไม่รู้รายละเอียด รู้แค่ตอนหลานบอกว่าเคยชนพ่อตาเขาล้ม หาหมอ แล้วเขาจะจ่ายค่าเยียวยาให้ ตอนแรกบอกจะจ่าย 6 หมื่น แต่ตอนหลังจ่ายไม่ถึง รู้แค่นั้นค่ะ

สังคม ญาติพี่น้องก็เรียกร้อง ส่วนนึงอาจเห็นต่างว่าโทษประหารควรยกเลิกไปซะ อาจมีการขัดเกลาคนเหล่านี้ ให้กลับมาเป็นคนดีส่งคืนสู่สังคม แต่ก็ไม่ได้เป็นเช่นนั้นเสมอไป เพราะกรณีนี้อย่างที่เห็น เข้าไปแล้วออกมา แล้วก็ก่อเหตุทุกครั้ง มันจะมีคำพูดว่าใช่ไง เขาเข้าไปแล้วไม่มีภาครัฐขัดเกลาไง เขาถึงได้เป็นแบบนี้ กับอีกมุมก็บอกว่าเข้าไปโทษประหาร แต่พอถึงเวลาไม่มี มีการลดหย่อนต่างๆ นานา แล้วก็ออกมาอีก?

ธนกฤต : ก่อนอื่นต้องบอกก่อนว่าท่านรัฐมนตรีก็แสดงความเสียใจ ก็สั่งการให้ผมประสานยุติธรรมจังหวัด เรื่องกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ วันนี้ยุติธรรมจังหวัดลงไปพบญาติผู้เสียชีวิตแล้ว ต้องแจ้งสิทธิ์การเสียชีวิต ค่าอุปการะเลี้ยงดูทั้งหลายรวมแล้วก็มีเงินเยียวยาตรงส่วนนี้ให้ และมีชุดคุ้มครองพยานถ้าน้องไม่ได้รับความปลอดภัย อันนี้เป็นเรื่องที่ยุติธรรมจังหวัดจะเข้าไปช่วยดูแลและดูข้อกฎหมาย

อีกประเด็น เราออกรายการหลายครั้ง เราพูดเรื่องการกวดขันเรื่องอาวุธปืนหลายครั้ง แต่ตอนนี้อาจต้องทำหนังสือเน้นย้ำไปที่ผู้เกี่ยวข้อง ไม่ว่าสำนักงานตร.แห่งชาติ หรือฝ่ายปกครอง ให้กวดขันเรื่องการจับกุมเรื่องนี้ เดี๋ยวกระทรวงยุติธรรมจะทำหนังสือไปอีกรอบ ให้เน้นย้ำเรื่องการตรวจอาวุธปืนทั้งหลายเหล่านี้

ส่วนประเด็นในพื้นที่มียาเสพติด จากนี้ไป เราจะให้ปปส. ลงพื้นที่สนธิกำลัง บริเวณนั้นต้องจับเรื่องยาเสพติดให้มากขึ้น ถ้ามีก็อยากให้พี่น้องประชาชนแจ้งเบาะแสมาบ้าง เพราะบางทีเจ้าหน้าที่เองก็พยายามสืบสวนด้วยส่วนนึง แต่ถ้าบอกมาว่าในพื้นที่มีเยอะมาก ให้มาแจ้งที่กระทรวงยุติธรรมก็ได้ ให้ทางปปส.ไปจัดการให้ ผมต้องเรียนว่าเมื่อกี้พูดเรื่องความไม่ปลอดภัย กลัวคนเหล่านี้จะออกมา

อยากบอกว่าตอนนี้มันทันสถานการณ์อยู่เรื่องนึง ท่านสมศักดิ์ เทพสุทิน ท่านได้เสนอกฎหมายออกมาแล้ว เวลานี้กฎหมายรอประกาศในราชกิจจา คือกฎหมายการกระทำความผิดซ้ำ ยกตัวอย่างเช่นกฎหมายเรื่องนี้แบ่งเป็นสามช่อง ใครทำความผิดเกี่ยวกับเรื่องเพศ จะล็อกตัวเอาไว้ไม่ให้ออกจากคุกได้ง่าย ถ้าออกมาแล้วจะควบคุมโดยวิธีไหน ล็อกที่สองคือเรื่องร่างกาย ก่อเหตุอุกฉกรรจ์ ยิงแล้วยิงอีก หลังจากนี้ไม่ง่ายแล้ว เขาจะถูกควบคุม ถ้าพ้นโทษมาแล้ว ติดดีเอ็มที่ขา และมอนิเตอร์พวกนี้ไปอีก 10 ปี

สุดท้ายเรื่องของความปลอดภัย เรื่องเรียกค่าไถ่ทั้งหลายเหล่านี้ เราก็จะล็อกเป็นกลุ่มสาม สามกลุ่มหลักใช้กฎหมายล็อกคนเหล่านี้ไว้ หากกรณีนี้โทษคือประหารชีวิต แต่ถ้าเขามีการรับสารภาพอะไรก็แล้วแต่ อาจไม่ได้ถูกประหารชีวิต

ขั้นตอนสุดท้าย กรมราชทัณฑ์จะมีคณะอนุกรรมการก่อนปล่อยตัว มีตร. มหาดไทย สาธารณสุข กระทรวงยุติธรรม มาพิจารณาว่าคนพวกนี้ต้องถูกขึ้นบัญชีไว้ ไม่ให้ออกมาได้ง่ายๆ ถ้าออกมาแล้วจะต้องเอากฎหมายไปล็อกคนเหล่านี้ไม่ให้ออกมาอยู่สังคมแบบสะดวกขึ้น

ทีนี้ทั้งหลายทั้งปวง มีสามส่วน ส่วนที่หนึ่งเรื่องครอบครัว ถ้าครอบครัวใดพบลูกหลานมีเรื่องยาเสพติด ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ เราต้องดูกันตั้งแต่ในครอบครัว สองเป็นเรื่องการบอกเจ้าหน้าที่กวดขัน เจ้าหน้าที่ทำงานกันเต็มที่อยู่แล้ว สามคือการปรับแก้กฎหมายเรื่องทำผิดซ้ำมารองรับตรงนี้

ต้องบอกว่าที่พูดเราไม่ใช่ศาลเตี้ย แต่วิเคราะห์ข้อเท็จจริง คุณอาจไม่ได้อยู่ใกล้เคียงกันคนเหล่านี้ แต่การเลิกยา เชื่อมั้ย แม่-เมีย ไอ้ต้อยยังเอาไม่อยู่ อาจารย์มองยังไง?

ดร.กฤษณพงค์ : ถ้าคนที่ใช้สารเสพติดในช่วงแรก มีการแก้ไขและฟื้นฟู พบว่าจะแก้ไขได้ดีกว่าคนติดสารเสพติดในระยะเวลาที่ยาวนาว ประกอบกับมีพฤติกรรมก้าวร้าว รุนแรงเพิ่มเข้าไป ดื่มแอลกอฮอล์ สารเสพติดประเภทอื่นอีก ยิ่งส่งผลต่อพฤติกรรมที่จะก้าวร้าวรุนแรงมากยิ่งขึ้น

มีการถอดบทเรียนเรื่องนี้มาแล้ว?

ดร.กฤษณพงค์ : มีข้อมูลรองรับครับ ผมเคยไปเก็บข้อมูลในเรือนจำทำวิจัย สัมภาษณ์เจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์ แม้กระทั่งผู้ต้องขังเรื่องยาเสพติด คดีฆ่า เจ้าหน้าที่ก็หนักใจ เพราะการแก้ไขฟื้นฟูทำได้ยาก ก็ถามกลับมาว่าทำไมข้างนอกมาโยนให้ราชทัณฑ์ ทำไมไม่มองตั้งแต่เขาเกิดออกมา ข้างนอกทำอะไรกันอยู่ ถึงทำให้คนเหล่านี้มาอยู่ในเรือนจำ

คิดว่าส่งมาบำบัดในเรือนจำแล้วจะเลิก แต่ก็ไม่ได้เป็นแบบนั้นทุกคน?

ดร.กฤษณพงค์ : ที่สำคัญคือสัดส่วนกรมราชทัณฑ์กับผู้ต้องขังก็มีสัดส่วนน้อยนะครับ เทียบกับมาตรฐานสากล ก็เห็นใจเจ้าหน้าที่ ถึงแม้ราชทัณฑ์จะคิดมาตรการแก้ไขฟื้นฟูผู้ต้องขัง แต่แต่ละคนก็เปรียบเสมือนผ้า บางคนเปื้อนน้ำหมึก เปื้อนยาง จากผ้าขาวเป็นผ้าดำไปแล้ว คิดว่าจะโยนใส่เครื่องซักผ้าเครื่องนึง โยนลงไปแล้วจะออกมาเป็นสีขาวก็ยากแล้วครับ ทำไมช่วงแรกที่เขาเปื้อนน้ำหมึก เปื้อนโคลนทำไมไม่รีบซัก พอวันนึงซักไม่ได้แล้วก็บอกว่าเครื่องซักผ้าอย่างกรมราชทัณฑ์เป็นเครื่องวิเศษ โยนไปแล้วออกมาต้องเป็นผ้าขาว อันนี้เปรียบเทียบให้ดูง่ายๆ ครับ

ตอนนี้สังคมส่วนนึงอยากทราบเรื่องการประหาร?

ธนกฤต : กฎหมายประหารชีวิตยังมีอยู่ แต่ขั้นตอนกระบวนการเป็นคำสั่งพิพากษาเป็นเรื่องไม่ก้าวล่วง เพราะเป็นอำนาจของศาล แต่ส่วนตัวผมถ้ามีความชัดแจ้งเรื่องการกระทำความผิดแบบนี้ อยากให้ใช้กฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการประหารชีวิต คดีข่มขืนเด็ก ฆ่าต่อเนื่อง ก็อยากให้ประหารชีวิตเลย จะได้เป็นตัวอย่างที่ชัดว่าเรามีกฎหมายและใช้แบบเข้มข้นจริงๆ แต่สิ่งที่ประชาชน พี่น้องสนใจเรื่องแบบนี้ เดี๋ยวจะไปเรียนท่านรัฐมนตรีและกรมราชทัณฑ์ และคนที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องนี้กลับมาทบทวนสิทธิมนุษยชนด้วย ต้องกลับมาทบทวน เวลาประหารชีวิตคนก็จะมีสองด้านเสมอ บางคนเห็นด้วย บางคนไม่เห็นด้วย คิดว่าเรื่องนี้ต้องทบทวน

โทษประหารยังมีอยู่ แต่ไม่มีการประหารจริงๆ สุดท้ายก็ลดโทษ จำคุก อภัย ออก?

ธนกฤต : ตรงนี้แหละที่ต้องทบทวน ประหารก็ต้องประหารจริงๆ ถ้ามันชัดแจ้งอย่างนี้ ยิงกันอย่างนี้ หรือไปข่มขืนแล้วฆ่า มันควรเอาไว้มั้ย ผมว่าสังคมไม่มีใครอยากให้เอาไว้

คนกลุ่มนึงอาจบอกว่าไม่ได้ ต้องหาคนขัดเกลา?

ธนกฤต : ก็นี่ไง เหรียญมีสองด้าน ในที่สุดสิ่งที่แก้ไม่ได้ มันอยู่ในจิตสำนึกของเขา ถ้ามันเปลี่ยนไม่ได้ ก็เหมือนลงเครื่องปั่น ปั่นทิ้งไปเลย หรือลงชักโครกกดทิ้งไปเลย

แม่อยากบอกอะไร?

แม่อาภาภรณ์ : ขอให้ช่วยดำเนินการให้ถึงที่สุด เอาให้ตาย ประหารได้ยิ่งดี มันทำรุนแรงมากกับลูกๆ ทั้งสามคน

ในฐานะน้องสาวของพี่สาวฝาแฝด อยากให้เป็นยังไง?

พราว : อยากให้ประหารเหมือนกันค่ะ เพราะตอนทำ ทำไมไม่คิด จะเอายามาอ้างไม่ได้ แล้วอยากให้ตร.ช่วยได้แล้วเรื่องยาเสพติด(ร้องไห้) มันมีเยอะมากในกระบี่ มีข่าวติดต่อกันทุกวันว่าฆ่ากันเพราะยาเสพติด

ลุงอยากฝากอะไร?

ลุงเจมส์ : อยากให้ประหาร มันไม่ไหว น้องสาวผมฝากหลานไว้ แม่ของคิมหันต์เพิ่งเสียเมื่อปลายปีที่แล้ว ผมต้องมาเสียเพราะคนหลอนยา คลั่งยา ไม่ไหวครับ

ธนกฤต : ฝากบอกที่คิดมาข่มขู่กับคนในครอบครัว บอกเลยว่าระวัง ผมไม่เอาไว้ ฝากไว้แค่นี้