แม่ค้าไก่สดเก็บแบงก์ 50 ตลอดทั้งปี แกะออกมานับปุ๊บรวยปั๊บ 5,160 ใบ 258,100 แสนบาท เผยเคล็ดลับ ต้องทำเป็นลืม

(4 ม.ค.66) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผู้ใช้เฟซบุ๊ก “Parinatra Soonklang” ได้ออกมาเผยแพร่ภาพถ่ายและข้อความ โชว์ถังน้ำดื่มขนาดใหญ่สีขาวขุ่นที่ภายในมีธนบัตรฉบับละ 50 บาท จำนวนมาก บอกปีนี้เก็บครบแล้ว เตรียมนำออกมานับ พร้อม ระบุข้อความว่า “#ปิดถังเป็นที่เรียบร้อย 1ม.ค.65 ถึง 31 ธ.ค. 65 ปีนี้ลุ้นว่าจะได้เท่าไหร่ #ของขวัญปีใหม่66 #แบงค์สีฟ้าพารวย #เงินทั้งหมดอนาคตลูกชาย” และ “รอลุ้นเปิดถังนับเงินแบงค์ 50 ของปี 65 ในวันอังคารที่ 3 ม.ค.66 น๊า”

ผู้สื่อข่าวจึงได้เดินทางไปพบกับเจ้าของโพสต์ดังกล่าว ชื่อว่า น.ส.ปริณตรา ศูนย์กลาง อายุ 37 ปี อาศัยอยู่ที่ ต.บ้านไร่ อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี เป็นเจ้าของร้าน “น้องอั่งเปาไก่สด” พร้อมเปิดเผยว่า ตนเป็นแม่ค้าขายไก่ตามตลาดนัดต่างๆ ได้เก็บหยอดธนบัตรฉบับละ 50 บาท ไว้ในถังน้ำดื่มขนาดใหญ่ที่มีสีขาวขุ่น ซึ่งเป็นถังน้ำดื่ม มาทำเป็นกระปุกออมสิน เหมือนกับที่ได้อ่านในเฟซุ๊กที่มีคนแชร์ต่อๆกันมา ซึ่งตนได้ทำมาเป็นปีที่ 4 แล้ว โดยเขียนข้อความไว้บนถังว่า 1 ม.ค.65 ซึ่งเป็นวันที่เริ่มต้นหยอดแบงก์ 50 บาท ลงไป และกระปุกออมสินรูปถังไม้ใส่กุญแจล็อค 1 ถัง ภายในยอดธนบัตรฉบับละ 100 บาท อีกจำนวน 1 ถัง และในปีนี้ ต้องเพิ่มปี๊บมาเป็นกระป๋องใส่เงินสำรองด้วย

น.ส.ปริณตราได้เทเงินสดฉบับใบละ 50 บาท ที่อยู่ในถังออมเงินดังกล่าวลงบนผ้าปูสีแดง หลังใช้ค้อนทุบถังจนแตก เพื่อให้ผู้สื่อข่าวได้ชมและบันทึกภาพ ดูว่าทั้งหมดคือเงินสดๆ ที่ตนได้ออมในถังบรรจุน้ำ ตั้งแต่ 1 ม.ค.2565 – 31 ธ.ค.2565 ดังกล่าวจริง พร้อมทั้งให้ พี่สาวและลูกชายได้ช่วยกันนับ โดยนับเป็นปึก ปึกละ 100 ใบ 5,000 บาท เป็นเงิน 278,100 บาท จากนั้น ได้นำกุญแจไขกระปุกออมสินถังไม้ซึ่งมีธนบัตรฉบับละ 100 บาท และเทออกมานับ ซึ่งตนและพี่สาวใช้เวลากว่า 2 ชั่วโมงจึงนับเสร็จ ได้ แบงก์ 50 จำนวน 5,160 ใบ เป็นเงินจำนวน 258,100 บาท ส่วน แบงก์ 100 ได้จำนวน 200 ใบ เป็นเงิน 20,000 บาท รวม 278,100 บาท

น.ส.ปริณตรา กล่าวว่า การเก็บออมเงินครั้งนี้เป็นครั้งที่ 4 แล้ว หลังจากได้แรงบันดาลใจจากชาวเน็ตที่ได้ออกมาแชร์การเก็บเงินไว้ในถังบรรจุน้ำ ซึ่งตนได้ลองทำดูบ้างและประสบความสำเร็จมาแล้ว 2 ครั้ง วิธีการเก็บโดยเมื่อตนได้รับเงินจากลูกค้าจะเป็นแบงก์ 50 บาท โดยตนจะเลือกใบที่ใหม่ นำมาหยอดใส่ถังไว้ วันไหนได้มากก็หยอดมาก วันไหนได้น้อยก็หยอดน้อย ประกอบกับแม่ค้าด้วยกัน และ ผู้ที่ทราบจากข่าวว่าตนชอบเก็บแบงก์ 50 บาท ก็จะนำมาให้ตนเองแลกเอาไว้ และเริ่มยอดใส่ถังน้ำดื่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 เป็นต้นมา จนถึงกำหนด 31 ธันวาคม 2565 เป็นเวลา 1 ปีเต็ม จนเมื่อวันที่ 2 มกราคม 2565 ตนก็ได้ถือฤกษ์ช่วงเช้าเวลาประมาณ 14.39 น. จึงนำค้อนมาเปิดปากถัง เนื่องจากเป็นพลาสติกเหนียวและหนา และนำธนบัตรทั้งหมดที่อยู่ภายในถังออกมา 

น.ส.ปริณตรา กล่าวต่อว่า เมื่อตนเอง กับพี่สาวและลูกชาย ได้นับแบงก์ 50 บาท ทั้งหมด ปรากฏว่าได้หยอดเงินสะสมทั้งหมด จำนวน 258,100 บาท รู้สึกดีใจมาก เพราะว่าลองเก็บเป็นครั้งที่ 4 แล้ว และครั้งนี้เก็บได้เพียง 1 ปี ตนทำงานอย่างหนักแบบไม่ได้พักเหมือนคนอื่นเขา ตั้งใจหยอดทุกวัน และ ไม่กระทบกับเงินทุนที่ต้องใช้ซื้อของแต่ละวัน ไม่คิดจะได้เงินมากขนาดนี้ สำหรับการเก็บเงินแบงก์ 50 บาท ครั้งแรก ปี 2561 เก็บได้จำนวน 68,000 บาท ครั้งที่ 2 ปี 2562-2563 จำนวน 2 ปี เนื่องจากอยู่ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 เก็บเงินได้จำนวน 147,800 บาท ครั้งที่ 3 ปี 2564 เก็บได้จำนวน 180,850 บาท และ ครั้งที่ 4 ปี 2565 จำนวน 258,100 บาท

สำหรับเงินจำนวนนี้ วันนี้ (4 ม.ค.66 ) เวลา 08.30 น. ตนจะนำไปฝากธนาคาร และ จะนำเงินมาซื้อความสุขให้กับตนเองและครอบครัว จะพาคุณแม่ พาลูกชาย ไปเที่ยว และ ทำบุญตามสถานที่ต่างๆ และอีกส่วนหนึ่งจะเก็บไว้เป็นค่าเล่าเรียนของลูกชาย และใช้ในครัวเรือนส่วนหนึ่ง มันอาจจะดูไม่มาก แต่ก็ภูมิใจที่ได้เก็บเงินถือว่าเป็นของขวัญปีใหม่ ปี 2566 พร้อมกันนี้ได้นำเงินเก็บไว้เป็นเงินขวัญถัง 10,000 บาท เพื่อเก็บเป็นครั้งที่ 5 ซึ่งเริ่มตั้งแต่ 1 ม.ค.2566 เป็นต้นไป 

เมื่อผู้สื่อข่าวได้สอบถามว่า ใช้วิธีอะไรในการเก็บเงินจนประสบความสำเร็จ น.ส.ปริณตรา ตอบว่า สิ่งแรกคือความตั้งใจ เงินที่นำมาหยอดนี้ต้องไม่เดือดร้อนกับเงินทุน หรือ เงินที่ใช้สำหรับใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน มีเหลือมากเราก็เก็บมาก มีน้อยเราก็เก็บน้อย ที่สำคัญเราต้องไม่ไปคิดว่าเรามีถังใบนี้อยู่และเก็บเงินเอาไว้ ให้ทำเป็นลืม และไม่เที่ยวกลางคืน ไม่ดื่มสุรา มีความขยัน ตั้งใจทำงาน ก็จะประสบความสำเร็จได้ โดยตนขอให้กำลังใจกับคนที่เก็บแล้วหมดหวัง “ให้อดกลั้น นำเงินที่พอเหลือยอดเก็บไว้แบบไม่ต้องคำนึง และทำเป็นลืม สามารถเก็บได้แน่นอน”