Highlight

  • ดร.ศิลป์ – ศิลปวิชญ์ น้อยสมมิตร ผู้สมัครสมาชิกผู้แทนราษฏร เขต 24 คลองสาน ธนบุรี และราษฎร์บูรณะ แขวงบางปะกอก ภายใต้สังกัดพรรคเพื่อไทย กับนโยบายที่จะฟื้นเศรษฐกิจด้วยการใช้วัฒนธรรมที่หลากหลายในพื้นที่ของตัวเอง 
  • จากความชื่นชอบการอ่านคอลัมน์กรุงเทพมหานครในหนังสือพิมพ์ ทำให้เด็กชายศิลป์ในตอนนั้นกลายเป็น “พลเมืองตื่นรู้” (Active Citizen) ที่มีความรู้เรื่องการพัฒนาเมืองเป็นอย่างดี บวกกับความชื่นชอบการฟังอภิปรายไม่ไว้วางใจ ถึงกับนั่งรถเมล์ไปดูการอภิปรายที่รัฐสภา ทำให้ความฝันที่อยากจะเป็น “นักการเมือง” ค่อย ๆ ก่อตัวขึ้นอยู่ในหัวใจ 
  • การได้มีโอกาสทำงานในทีมประชาสัมพันธ์ของพรรคเพื่อไทย ทำให้ ดร.ศิลป์ มีโอกาสได้เรียนรู้นโยบายของพรรค จนเกิดเป็นความเข้าใจและอยากมีโอกาสได้เข้ามาทำงานในฐานะผู้แทนของประชาชน กระทั่งจะมีการเลือกตั้ง เขาจึงไม่รอช้าที่จะเสนอตัวทำงานให้กับคนในพื้นที่ 
  • ดร.ศิลป์ตั้งคำถามกับการแบ่งเขตเลือกตั้งของ กกต. ในครั้งนี้ ว่าใครกันแน่ที่จะได้ประโยชน์ เพราะเขามองไม่เห็นจุดที่ประชาชนในพื้นที่จะได้ประโยชน์จากการแบ่งเขตในลักษณะนี้เลย 

ความฝันหนึ่งของ “ดร.ศิลป์ – ศิลปวิชญ์ น้อยสมมิตร” คือการได้กลับมาดูแลพื้นที่บ้านเกิดของตัวเองในฐานะผู้แทนราษฎร จากลูกชายร้านตัดผมผู้ชื่นชอบการอ่านข่าวหนังสือพิมพ์และฟังผู้ใหญ่ถกเถียงเรื่องการเมือง สู่การทำงานในทีมประชาสัมพันธ์ให้กับพรรคเพื่อไทยมากกว่า 10 ปี วันนี้ ดร.ศิลป์เดินเข้าพื้นที่ที่เขาคุ้นเคย ในฐานะผู้สมัครสมาชิกผู้แทนราษฏร เขต 24 คลองสาน ธนบุรี และราษฎร์บูรณะ แขวงบางปะกอก ภายใต้สังกัดพรรคเพื่อไทย ด้วยความหวังจะขอทำงานดูแลและรับใช้พี่น้องประชาชนในพื้นที่ที่เขาใช้ชีวิตมา กว่า 49 ปี 

เด็กชายผู้ชื่นชอบการเมือง

“บ้านของผมเป็นร้านตัดผมผู้ชาย เพราะฉะนั้นบ้านของผมก็เลยเหมือนเป็นสภากาแฟ มีหนังสือพิมพ์วางไว้ทุกวัน ผมก็จะนั่งอ่านทุกฉบับเลย ทุกคอลัมน์ แต่คอลัมน์ที่ผมชอบที่สุดคือคอลัมน์กรุงเทพมหานคร เขาจะบอกว่าจะตัดถนนเส้นไหน เส้นไหนมีอุโมงค์ สร้างเมื่อไร เสร็จเมื่อไร งบประมาณเท่าไร คอลัมน์นี้เป็นคอลัมน์ที่ผมไม่เคยพลาดแม้แต่วันเดียว มันเลยทำให้ผมเป็นเด็กที่รู้จักเส้นทางโดยปริยาย” ดร.ศิลป์เริ่มต้นเล่า 

ดร.ศิลป์ – ศิลปวิชญ์ น้อยสมมิตร

จากความชื่นชอบการอ่านคอลัมน์กรุงเทพมหานครในหนังสือพิมพ์ ทำให้เด็กชายศิลป์ในตอนนั้นกลายเป็น “พลเมืองตื่นรู้” (Active Citizen) ที่มีความรู้เรื่องการพัฒนาเมืองเป็นอย่างดี บวกกับความชื่นชอบการฟังอภิปรายไม่ไว้วางใจ ถึงกับนั่งรถเมล์ไปดูการอภิปรายที่รัฐสภา ทำให้ความฝันที่อยากจะเป็น “นักการเมือง” ค่อย ๆ ก่อตัวขึ้นอยู่ในหัวใจของเขา 

“เราชอบการเมืองตั้งแต่ตอนนั้น แต่ก็ไม่รู้ว่าจะเข้ามาในวงการการเมืองได้อย่างไร เพราะเราก็ทำงานด้านประชาสัมพันธ์อยู่ กระทั่งวันหนึ่งเราได้มีโอกาสมาทำงานประชาสัมพันธ์ให้กับรัฐบาล ในช่วงนายกฯ ทักษิณ ทำโครงการให้เขา โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค โครงการแปลงสินทรัพย์เป็นทุน ทำจนเรารู้ว่าพอคนคิดนโยบาย ข้าราชการเอาไปทำ ส่งต่อไปถึงประชาชน มันเป็นห่วงโซ่ที่สมบูรณ์มาก มันทำให้ผมรู้สึกว่า ถ้าเราคิดอะไรที่ดีและทำได้จริง และประชาชนได้รับผลประโยชน์ มันก็จะสร้างประโยชน์ให้กับคนได้จริง ๆ”

 

“ผมทำงานเบื้องหลังมาก่อน ผมทำเบื้องหลังกับพรรคเพื่อไทยมา 10 ปี ผมทำงานพีอาร์นี่แหละ พอเราทำพีอาร์ เราเลยต้องรู้ว่าอะไรคือสิ่งที่ต้องการส่งไปให้ถึงผู้รับสาร เพราะฉะนั้น ผมก็ต้องเข้าไปศึกษานโยบายจริง ๆ ว่านโยบายคืออะไร สาสน์นั้นคืออะไร และผมประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับคืออะไร พอเราศึกษา เราก็เริ่มอิน เริ่มเข้าใจ จนได้เข้าไปทำงานกับผู้ใหญ่ในพรรค สมัยนายกฯ ยิ่งลักษณ์ เราก็ทำอยู่ตลอด จนกระทั่งเกิดปฏิวัติรัฐประหาร ผ่านมา 9 ปี ผมก็ยังเข้าไปช่วยงานที่พรรคอยู่ จนกระทั่งวันหนึ่งเรารู้ว่าจะมีการเลือกตั้ง เราก็เสนอตัวเลย ว่าผมสนใจเขตนี้ เพราะผมเป็นคนในพื้นที่” 

คนในพื้นที่ขอทำงานเพื่อคนในพื้นที่

“ผมเกิดที่นี่ ชุมชนที่นี่เมื่อก่อนก็มีร้านอาหาร มีแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ แต่ที่ผ่านมาแหล่งท่องเที่ยวและร้านอาหารเหล่านี้ จะมีคนในพื้นที่ คนในชุมชนที่ได้กินได้ใช้ เมื่อเวลาผ่านไป ความเจริญก็เข้ามี มีห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่เข้ามา มีรถไฟฟ้าเข้ามา แต่เชื่อไหมว่ามุมของเราที่เป็นคนฝั่งธนฯ มันไม่เคยมีทางด่วนอยู่ในฝั่งธนฯ เลย ผมอยู่ตลาดพลู ธนบุรี คลองสาน บางกอกใหญ่ ทางด่วนที่ใกล้ที่สุดคือสีลม ยมราช และดาวคะนอง เรารู้สึกว่าเราใกล้ความเจริญแค่แม่น้ำเจ้าพระยากั้น แต่ความเจริญมาหาเราช่างช้าเหลือเกิน” ดร.ศิลป์สะท้อน 

อย่างไรก็ตาม การลงพื้นที่พบปะกับผู้คนในพื้นที่ก็ทำให้ ดร.ศิลป์ มองเห็นปัญหาเร่งด่วนของประชาชน นั่นคือเรื่อง “เศรษฐกิจ” ที่กลายเป็นโจทย์สำคัญของทุกพรรคการเมือง แต่ในฐานะคนในพื้นที่ ดร.ศิลป์เชื่อว่าจะสามารถเปลี่ยนวัฒนธรรมที่หลากหลายในพื้นที่ของตัวเองให้กลายเป็น “รายได้” ที่จะกลับมาหล่อเลี้ยงและสร้างเศรษฐกิจที่ยั่งยืนให้กับประชาชนในพื้นที่ของเขาได้ 

“เขตของผมเป็นพหุวัฒนธรรม แปลว่าเป็นเขตที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมอย่างมาก เรามีแหล่งท่องเที่ยว เรามีกุฎีจีน มีทั้งชาวมุสลิม คริสต์ พุทธ พราหมณ์ อยู่ด้วยกัน เรามีชุมชนคนจีน เรามีโรงงิ้ว เรามีเชิดสิงโต เรามีการส่งคณะสิงโตไปเล่นที่สิงคโปร์ มาเลเซีย เรายังมีการแสดงกระตั้ว มีกลองยาว หัวโขน เรามีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้คนมากราบไหว้ เรายังมีห้างใหญ่อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา เรามีอาหาร สตรีทฟู้ด ขนมโบ๊กเกี้ยท่าดินแดง เรามีกุยช่ายตลาดพลู ของเหล่านี้จะเป็นสิ่งกระตุ้นเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี ถ้าได้รับการโปรโมตอย่างแท้จริง” 

“ผมเป็นคนรักท้องที่ ผมไม่ชอบเห็นคนที่อยู่บ้านผมย้ายไปที่อื่น ผมอยากให้เขามีความสุขทุกเวลา ตั้งแต่ตื่นยันเข้านอน ผมอยากเห็นคนในบ้านผมมีความสะดวกสบายในการคมนาคม ผมอยากเห็นคนบ้านผมมีความสะดวกสบายใจการจับจ่ายใช้สอย มีเศรษฐกิจที่ดี ผมรู้สึกว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐมีหน้าที่ในการกระจายทุกความเจริญ ทุกความต้องการของประชาชน เข้าสู่ท้องถิ่นของตัวเอง” ดร.ศิลป์กล่าว

การแบ่งเขตเจ้าปัญหา

ท่ามกลางศึกการเลือกตั้งที่ดุเดือด หนึ่งปัญหาที่ ดร.ศิลป์ เล่าให้ฟังคือปัญหาการแบ่งเขตเลือกตั้ง ที่สร้างความฉงนให้กับประชาชนเป็นอย่างมาก ซึ่งเขาชี้ว่า การแบ่งเขตที่เกิดขึ้นรังแต่จะทำให้ประชาชนเสียประโยชน์ 

“ยกตัวอย่างง่าย ๆ เขตของผมคือธนบุรีและคลองสาน เดิมเป็นธนบุรี คลองสาน บางกอกใหญ่ ปรากฏว่ารอบใหม่กลายเป็นคลองสานเต็มเขต ธนบุรีถูกตัดออกไป 3 แขวง ประชากรผมถ้าเอาแค่คลองสาน ธนบุรี รวมกันได้ 165,000 คนพอดี ตามเกณฑ์ของ กกต.เลย แต่ กกต.ไม่รู้คิดอย่างไร เอา 3 แขวงของผม คน 46,000 คน ออกไปให้เขตบางกอกใหญ่ แล้ว 46,000 คนที่หายไป ก็ไปเองบางปะกอกมารวม” 

“ถามว่าการแบ่งเขตแบบนี้ คนที่ได้ประโยชน์คือใคร ไม่มี แต่คนที่เสียประโยชน์คือประชาชน เขตธนบุรีถูกแบ่งออกเป็นสองส่วน ถ้าเรามีผู้แทนมาจากพรรคเดียวกัน อันนี้ยังโอเค เราทำงานด้วยกัน แต่ถ้าวันหนึ่งผู้แทยไม่ได้มาจากพรรคเดียวกัน การพัฒนาจะเกิดอะไรขึ้น อันนี้เขตฉัน แขวงฉัน ฉันทำ อะไรที่เป็นความต้องการร่วมของคนทั้งเขต ถ้าเห็นไม่ตรงกันก็ไม่ได้ทำ ประชาชนได้อะไร ไม่ได้ รัฐบาล เจ้าหน้าที่รัฐก็ทำงานยาก ต้องทำงานกับสองฝ่าย เกิดการชักเย่อ ถามว่าประโยชน์อยู่ที่ไหน ผมก็มองไม่เห็นจริง ๆ” ดร.ศิลป์แสดงความคิดเห็น

ขอทำหน้าที่คนกลาง

แม้จะเป็น “หน้าใหม่” ในศึกเลือกตั้งครั้งนี้ แต่ ดร.ศิลป์ ก็พร้อมที่จะทุ่มเททำงานให้ประชาชนในพื้นที่ สร้างงาน สร้างรายได้ และปัดเป่าความทุกข์ใจของคนใน “บ้าน” ของเขา 

“ผมเกิดและโตที่นี่ ไม่ว่าผมจะเป็นอย่างไรในภายภาคหน้า ผมก็ยังคงใช้ชีวิตอยู่ที่นี่ นี่คือบ้านของผม นี่คือสิ่งที่ผมเห็นมาตั้งแต่เด็กจนถึงบัดนี้ ผมอายุ 49 ปีแล้ว ผมเห็นมันมากับตา ผมเห็นมาทุกสิ่ง ผมเห็นทุกความเปลี่ยนแปลง ผมเห็นทุกความเจริญ และผมเห็นทุกความยากลำบากที่ผ่านมา ผมจะอยู่ร่วมทุกข์ร่วมสุข แล้วก็เป็นคนที่เข้าใจและเข้าถึงคนจริง ๆ ผมจะเป็นตรงกลางเชื่อมโยงนโยบายของพรรคมาให้ประชาชน ผมจะเป็นคนตรงกลางที่เชื่อมโยงความเดือดร้อนของประชาชนไปสู่พรรค ไปสู่การแก้ไข ผมมั่นใจว่าถ้าพรรคเพื่อไทยได้เสียงมากพอ เราจะเป็นพรรคที่สามารถขับเคลื่อนทุกนโยบายที่เราบอกกับพี่น้องประชาชนได้” ดร.ศิลป์ให้คำมั่นสัญญา