Highlight

  • ขณะที่ผู้หญิงในหลายพื้นที่ทั่วโลกเข้าถึงโอกาสได้อย่างเท่าเทียมกับผู้ชาย และสามารถลดช่องว่างทางเพศในพื้นที่ทางการศึกษา การทำงาน หรือสังคมได้สำเร็จ โลกใบนี้ยังมีผู้หญิงอีกหลายล้านคนที่ต้องเผชิญกับความยากลำบากของการ “มีชีวิตอยู่” ท่ามกลางวิกฤตสังคมที่บีบคั้นให้พวกเธอไร้ทางสู้ เพียงเพราะถูกมองว่าเป็นผู้หญิง
  • นับตั้งแต่รัฐบาลตาลีบันกลับขึ้นมาเรืองอำนาจ ประเทศอัฟกานิสถานกลายเป็นประเทศเดียวในโลก ที่เด็กผู้หญิงและผู้หญิงถูกสั่งห้ามไม่ให้ได้รับการศึกษาจากโรงเรียนและมหาวิทยาลัย เพียงเพราะเพศสภาพของพวกเธอ 
  • การเสียชีวิตของมาห์ซา อามินี หญิงสาวชาวอิหร่านวัย 22 ปี หลังจากที่เธอถูก “ตำรวจศีลธรรม” หรือเจ้าหน้าที่รัฐจับกุมในข้อหาสวมฮิญาบหรือผ้าคลุมหน้าไม่เรียบร้อย ทำให้เกิดการประท้วงลุกลามไปทั่วประเทศอิหร่านอย่างที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน
  • ภาวะสงครามส่งผลกระทบต่อผู้หญิงและเด็กเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ผู้หญิงและเด็กชาวยูเครนกลายเป็น “เหยื่อ” ผู้รองรับความโหดร้ายและความรุนแรงของสงครามอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
  • ในปี 2020 มีการสำรวจว่าเด็กหญิงและหญิงชาวเคนยันกว่า 4 ล้านคนถูกขลิบ เนื่องจากเชื่อว่าการขลิบจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้หญิง ทั้งการรักษาความสะอาด และเป็นการควบคุมความต้องการทางเพศของผู้หญิง 

ในประเทศเยเมน ทุก ๆ สองชั่วโมงจะมีผู้หญิงหนึ่งคนเสียชีวิตจากการคลอดบุตร ผู้หญิงมากกว่า 65% ของประเทศซูดานใต้ เคยถูกล่วงละเมิดทางเพศหรือถูกกระทำความรุนแรง ขณะที่ประเทศไนจีเรีย มีเด็กผู้หญิงอายุต่ำกว่า 18 ปี มากกว่า 40% ถูกบังคับให้แต่งงาน 

สิทธิเด็กและสตรีกลายเป็นประเด็นสำคัญที่ทั่วทั้งโลกให้ความสำคัญ และมีความพยายามที่จะร่วมมือกันที่จะสร้างสังคมแห่งความเท่าเทียมทางเพศให้เกิดขึ้น ผู้หญิงในหลายพื้นที่ทั่วโลกเข้าถึงโอกาสได้อย่างเท่าเทียมกับผู้ชาย และสามารถลดช่องว่างทางเพศในพื้นที่ทางการศึกษา การทำงาน หรือสังคมได้สำเร็จ ทว่า โลกใบนี้ยังมีผู้หญิงอีกหลายล้านคนที่ต้องเผชิญกับความยากลำบากของการ “มีชีวิตอยู่” ท่ามกลางวิกฤตสังคมที่บีบคั้นให้พวกเธอไร้ทางสู้ เพียงเพราะถูกมองว่าเป็นผู้หญิง นำเสนอเรื่องราวของผู้หญิงจากหลายพื้นที่ทั่วโลก ที่พิสูจน์ให้เห็นว่า “สิทธิที่ไม่เท่าเทียมกัน” ยังมีอยู่จริง และต้องการการแก้ไขอย่างเร่งด่วน 

อัฟกานิสถาน

ประเทศอัฟกานิสถานเป็นประเทศหนึ่งที่ประเด็นเรื่อง “สิทธิสตรี” เป็นปัญหาและทั่วโลกก็กำลังเฝ้ามองอย่างใกล้ชิด หลังจากกลุ่ม “ตาลีบัน” กลับขึ้นมาเรืองอำนาจอีกครั้งเมื่อปี 2021 และประกาศใช้นโยบายที่ลิดรอนสิทธิของผู้หญิงและเด็กผู้หญิงอย่างรุนแรง ทั้งเรื่องการศึกษา การทำงาน การแต่งตัว การใช้ชีวิตประจำวัน รวมไปถึงการมีส่วนร่วมทางการเมืองของผู้หญิง 

AFP

นับตั้งแต่รัฐบาลตาลีบันกุมอำนาจการปกครองของประเทศ พวกเขาได้สั่งห้ามไม่ให้นักเรียนหญิงชั้นมัธยมศึกษาไปโรงเรียน ส่งผลให้เด็กนักเรียนหญิงกว่า 3.5 ล้านคนทั่วประเทศไม่สามารถเข้าเรียนได้ เช่นเดียวกับสั่งห้ามนักศึกษาหญิงไม่ให้เข้าเรียนในระดับมหาวิทยาลัย ซึ่งทำให้ประเทศอัฟกานิสถานกลายเป็นประเทศเดียวในโลก ที่เด็กผู้หญิงและผู้หญิงถูกสั่งห้ามไม่ให้ได้รับการศึกษาจากโรงเรียนและมหาวิทยาลัย เพียงเพราะเพศสภาพของพวกเธอ ทำลายความฝันของผู้หญิงอัฟกันหลายล้านคนที่อยากได้รับการศึกษาและมีหน้าที่การงานที่มั่นคง 

การใช้ชีวิตประจำวันของผู้หญิงอัฟกันก็มีความยากลำบากมากยิ่งขึ้น เมื่อรัฐบาลตาลีบันสั่งห้ามผู้หญิงเดินทางคนเดียว การจะไปสถานที่ต่าง ๆ ของผู้หญิงจำเป็นต้องมีผู้ชายในครอบครัวเดินทางไปด้วย เช่นเดียวกับการสั่งห้ามไม่ให้ผู้หญิงเข้าไปในสวนสาธารณะ ศูนย์กีฬา หรือห้องอาบน้ำสาธารณะสำหรับผู้หญิง ไม่เพียงเท่านั้น รัฐบาลตาลีบันยังสั่งการให้ผู้หญิงทุกคนต้องสวมผ้าคลุมหน้า เมื่อปรากฏตัวในโทรทัศน์ ก่อนจะประกาศให้ผู้หญิงทุกคนต้องปกคลุมในหน้าและร่างกายของตัวเองในพื้นที่สาธารณะ 

AFP

กลุ่มผู้หญิงอัฟกันและนักเคลื่อนไหวเรื่องสิทธิมนุษยชนต่างออกมาเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายที่ลิดรอนสิทธิและเสรีภาพของผู้หญิงในอัฟกานิสถาน มีการเดินขบวนประท้วงเกิดขึ้น แต่ก็มักจะถูกรัฐบาลตาลีบันใช้ความรุนแรงเข้าจัดการ และนำไปสู่การทำร้ายร่างกายกลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงและนักเคลื่อนไหว 

อิหร่าน

ประเทศอิหร่านเป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีกฎหมายและนโยบายลิดรอนสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของผู้หญิงในประเทศ โดยเฉพาะเรื่องการแต่งกายของผู้หญิงอิหร่าน ที่กลายเป็นชนวนเหตุการลุกฮือประท้วงของประชาชนทั่วประเทศในช่วงปีที่ผ่านมา ถือเป็นการแสดงพลังของประชาชนที่ทรงพลังมากที่สุดในรอบหลายสิบปี และทำให้มีผู้เสียชีวิตจากการประท้วงมากกว่าร้อยคน 

Getty images

การเสียชีวิตของมาห์ซา อามินี หญิงสาวชาวอิหร่านวัย 22 ปี หลังจากที่เธอถูก “ตำรวจศีลธรรม” หรือเจ้าหน้าที่รัฐจับกุมในข้อหาสวมฮิญาบหรือผ้าคลุมหน้าไม่เรียบร้อย ทำให้เกิดการประท้วงลุกลามไปทั่วประเทศอิหร่านอย่างที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน ผนวกกับความไม่พอใจระบอบเผด็จการอำนาจนิยมเป็นทุนเดิม ทั้งระบบโครงสร้างการเมือง พฤติกรรมโหดร้ายและการใช้ความรุนแรงกับประชาชนของเจ้าหน้าที่รัฐ และวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ในสังคมอิหร่าน ก็ทำให้กลุ่มผู้หญิงชาวอิหร่านตัดสินใจออกมาชุมนุม และแสดงออกให้เห็นท่าทีของผู้หญิงที่ “หมดความอดทน” กับระบอบชายเป็นใหญ่ ที่ปฏิบัติกับผู้หญิงราวกับเป็น “สมบัติ” ของพ่อและสามี รวมทั้งจำกัดเสรีภาพในการเดินทางไปไหนมาไหน การศึกษา การทำงาน การแต่งงาน หรือแม้แต่สิทธิในการแต่งกายของผู้หญิง ภายใต้สโลแกนที่ว่า “สตรี ชีวิต และเสรีภาพ” 

การชุมนุมประท้วงที่เกิดขึ้นทั่วประเทศอิหร่าน มีทั้งผู้หญิงและผู้ชายเข้าร่วมการชุมนุม แสดงออกให้เห็นท่าทีไม่จำยอมต่อระบบการปกครองแบบเผด็จการ ทว่า ทางการอิหร่านก็ได้ใช้กำลังปราบปรามกลุ่มผู้ชุมนุมอย่างรุนแรง รวมถึงมีการลงโทษผู้ประท้วงอย่างโหดเหี้ยม ทั้งการทรมาณร่างกายและตัดสินประหารชีวิต 

AFP

ไม่เพียงเท่านั้น จากการเคลื่อนไหวประท้วงและเรียกร้องสิทธิของผู้หญิง ส่งผลให้เด็กนักเรียนหญิงจำนวนหลายร้อยคนทั่วประเทศ “ถูกวางยาพิษ” โดยมีอาหารทางเดินหายใจ คลื่นไส้ ปวดหัว ยังไม่มีรายงานสาเหตุที่ชัดเจน เช่นเดียวกับยังไม่สามารถจับกุมผู้กระทำความผิดได้ แต่หลายฝ่ายก็มองถึงความเป็นไปได้ว่าอาจเป็นฝีมือของกลุ่มอิสลามหัวรุนแรง ที่ต้องการข่มขู่ให้ผู้ประท้วงรู้สึกหวาดกลัว  

ยูเครน

สงครามรัสเซีย-ยูเครน กินเวลานานกว่าหนึ่งปี ส่งผลกระทบกับประชาชนชาวยูเครนอย่างรุนแรง มีชาวยูเครนมากกว่า 8 ล้านคนอพยพหนีภาวะสงครามเข้าสู่ประเทศต่าง ๆ ในยุโรป และมีประชาชนกว่า 6 ล้านคนที่ยังอาศัยอยู่ภายในประเทศ โดยในจำนวนนี้ มากกว่า 90% คือกลุ่มเด็กและผู้หญิง 

AFP

ภาวะสงครามส่งผลกระทบต่อผู้หญิงและเด็กเป็นอย่างมาก พวกเธอกลายเป็น “เหยื่อ” ผู้รองรับความโหดร้ายและความรุนแรงของสงครามอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ โดยสงครามรัสเซีย – ยูเครนที่กำลังดำเนินอยู่ มีรายงานการละเมิดสิทธิมนุษยชนออกมาให้เห็นอยู่เสมอ โดยผู้หญิงชาวยูเครนถูกล่วงละเมิดทางเพศ ทำร้าย และฆาตกรรม เช่นเดียวกับเด็ก ๆ ที่ถูกทำร้ายและลักพาตัวไป 

AFP

ไม่เพียงแค่ปัญหาการถูกล่วงละเมิดทางเพศในภาวะสงครามเท่านั้น แต่ผู้หญิงยูเครนยังต้องเผชิญกับปัญหาด้านสุขภาพ เนื่องจากเข้าไม่ถึงการบริการสุขภาพ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์ รวมถึงปัญหาภาวะอดอยาก การเข้าถึงการศึกษา คุณภาพชีวิต และปัญหาสุขภาพจิต ที่เป็นปัญหาสำคัญในช่วงภาวะสงคราม

เคนยา

เคนยาเป็นอีกประเทศหนึ่งที่ประเด็นเรื่องสิทธิสตรีเป็นปัญหาที่หลายฝ่ายแสดงความกังวล โดยเฉพาะวัฒนธรรม “การขลิบอวัยวะเพศหญิง” ซึ่งในปี 2020 มีการสำรวจว่าเด็กหญิงและหญิงชาวเคนยันกว่า 4 ล้านคนถูกขลิบ เนื่องจากเชื่อว่าการขลิบจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้หญิง ทั้งการรักษาความสะอาด และเป็นการควบคุมความต้องการทางเพศของผู้หญิง ทั้งเป็นการรับประกันกับสามีของผู้หญิงคนนั้น ๆ ว่าผู้หญิงที่ทำการขริบแล้วจะไม่นอกใจ

AFP

ไม่ใช่แค่ในประเทศเคนยาเท่านั้น แต่อีกหลายประเทศก็มีวัฒนธรรมการขลิบอวัยวะเพศผู้หญิง โดยมีเด็กสาวมากกว่า 200 ล้านคนทั่วโลกยอมรับว่าเคยผ่านการขลิบมาแล้ว ซึ่งนั่นเป็นสาเหตุของปัญหาด้านร่างกายและจิตใจของพวกเธอ ทั้งการมีเลือดออกไม่หยุด ภาวะติดเชื้อ ซีสต์ รวมทั้งปัญหาคลอดบุตรที่เป็นอันตรายถึงชีวิต 

AFP

แม้จะมีความพยายามในการยุติประเพณีการขลิบอวัยวะเพศหญิง แต่ข้อมูลจากองค์การสหประชาชาติก็ยังแสดงให้เห็นว่าสถิติการขลิบอวัยวะเพศหญิงของหลายประเทศยังไม่ได้ลดลงจากเมื่อ 30 ปีที่แล้ว สะท้อนให้เห็นวัฒนธรรมที่ยังคงกดทับและควบคุมเนื้อตัวร่างกายของผู้หญิงในหลายสังคมทั่วโลก 

นี่เป็นเพียงตัวอย่างการลิดรอนสิทธิผู้หญิงจากบางพื้นที่ของโลก และส่งผลกระทบต่อชีวิตของผู้หญิงจำนวนหลายล้านคน อย่างไรก็ตาม ประเด็นเรื่องสิทธิและเสรีภาพผู้หญิงของโลกยังเป็นประเด็นที่ทุกคนต้องให้ความสนใจ และร่วมกันหาทางออก เพื่อสร้างสังคมที่เคารพสิทธิความเป็นมนุษย์ของทุกคน ทุกเพศ และทุกวัย