ทุกเสาร์ที่ 2 ของเดือนมกราคมของทุกปี ถือเป็น “วันเด็กแห่งชาติ” วันแสนสนุกของเด็ก ๆ ทั่วเมืองไทย ซึ่งวันเด็กในปีนี้ก็ตรงกับวันที่ 14 มกราคม 2566 และถือเป็นธรรมเนียมของวันเด็กแห่งชาติทุกปี ที่นายกรัฐมนตรีจะต้องมอบคำขวัญให้เหล่า “มนุษย์จิ๋ว” ที่จะเติบโตไปเป็นกำลังสำคัญของประเทศในอนาคต โดยวันเด็กแห่งชาติ 2566 นี้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีก็ได้มอบคำขวัญว่า “รู้หน้าที่ มีวินัย ใฝ่ความดี” 

แม้วัยเด็กจะถูกมองว่าเป็น “วัยสดใส” ที่ยังไม่มีเรื่องให้กังวลใจมากเท่ากับผู้ใหญ่ ทว่าเด็ก ๆ แต่ละคนต่างก็มีปัญหาในแบบของตัวเอง และพวกเขาก็ต้องการความช่วยเหลือไม่แตกต่างจากผู้ใหญ่ ดังนั้น นอกจากจะมอบความสนุกสนานให้กับเด็ก ๆ ในวันเด็กแล้ว สิ่งหนึ่งที่ผู้ใหญ่สามารถทำได้ คือสร้างสังคมที่ “ให้ความสำคัญ” กับเด็กทุกคน และเนื่องในวันเด็กแห่งชาติ 2566 นี้ ก็ขอเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสังคมที่ดูแลคุณภาพชีวิตของเด็กตัวจิ๋ว ด้วยเรื่องราวหลากหลายของเด็ก ที่อยากส่งไปให้ถึงทุกคนในสังคมแห่งนี้ได้รับฟัง เพื่อให้ผู้ใหญ่หันมาให้ความสนใจเด็ก ๆ ช่วยเหลือพวกเขา และสร้างสังคมที่เป็นมิตรกับเด็กอย่างแท้จริง 

“เด็กถูกทำร้าย” ปัญหาที่ใหญ่กว่า “เรื่องในครอบครัว” 

ทัศนคติที่ว่า “ลูกเป็นสมบัติของพ่อแม่” ยังมีอยู่อย่างเข้มข้นในวิธีการเลี้ยงดูเด็กของสังคมไทย ซึ่งทัศนคติดังกล่าวทำให้ครอบครัวไทยจำนวนมากเลือกใช้ความรุนแรงทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจเพื่อควบคุมเด็กในบ้าน อีกทั้งความมีอำนาจเหนือกว่าของผู้ปกครองก็ทำให้พวกเขาไม่เข้าใจแนวคิดเรื่อง “สิทธิในเนื้อตัวร่างกายของเด็ก” จึงกลายเป็นปัญหาความรุนแรงเรื้อรังที่ซ่อนตัวอยู่หลังประตูบ้านของคนไทย 

ข่าวเด็กถูกทำร้ายจนได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตมีให้เห็นอย่างต่อเนื่อง และผู้กระทำความรุนแรงต่อเด็กส่วนใหญ่ล้วนแล้วแต่เป็น “ผู้ปกครอง” หรือคนในครอบครัวที่เด็กรักและไว้วางใจ นอกจากนี้ คนในสังคมที่พร่ำบอกว่าสงสารเด็กและมักจะเรียกร้องให้มีการลงโทษผู้กระทำความรุนแรงต่อเด็ก ก็กลับกลายเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ช่วยรดน้ำพรวนดินให้ “เมล็ดพันธุ์ความรุนแรงต่อเด็ก” งอกเงยขึ้นในสังคมของเรา

อ่านต่อ… “เด็กถูกทำร้าย” ปัญหาที่ใหญ่กว่า “เรื่องในครอบครัว”

 “สวัสดิการเด็กเล็ก” ปัญหาของมนุษย์จิ๋วที่ผู้ใหญ่มองข้าม

ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ระบบสวัสดิการของไทยได้ขยายครอบคลุมไปเกือบครบทุกกลุ่มประชาชน และไม่มีการแยกว่ารวยหรือจน ยกเว้นกลุ่มเด็กเล็กอายุ 0-6 ปีที่เหมือน “ถูกทิ้งไว้กลางทาง” โดยก่อนหน้านี้ เด็กเล็กที่จะเข้าถึงสวัสดิการต่าง ๆ ได้ จะต้องเป็นบุตรของผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมเท่านั้น กระทั่งปี พ.ศ. 2558 รัฐบาลจึงประกาศให้มี “สวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็ก” โดยให้เงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดถึง 6 ปี เดือนละ 600 บาทต่อคน เพื่อช่วยเหลือค่าใช้จ่ายในครอบครัว 

อย่างไรก็ตาม นโยบายดังกล่าวกลับไม่ได้จ่ายเงินให้เด็กเล็กทุกคนอย่างถ้วนหน้า แต่เป็นการจัดให้เด็กที่อยู่ในครอบครัวที่ผู้มีสิทธิ์เลี้ยงดู มีรายได้ไม่เกิน 100,000 บาทต่อคนต่อปี และต้องทำการขึ้นทะเบียนเพื่อพิสูจน์สิทธิ์ก่อน

อ่านต่อ… “สวัสดิการเด็กเล็ก” ปัญหาของมนุษย์ตัวจิ๋วที่ผู้ใหญ่มองข้าม

 “เด็กกำพร้า” ระเบิดเวลา หลังวิกฤตโควิด-19 

ท่ามกลางช่วงเวลาวิกฤตโควิด-19 ของไทยในช่วงปีที่ผ่านมา จำนวนผู้ใหญ่ที่เสียชีวิตจากโรคระบาดเพิ่มสูงขึ้น พร้อมกับข่าวเด็กมากมายที่ถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง แม้ปัญหาเด็กกำพร้าจะยังไม่ได้รับความสนใจในวงกว้างมากนัก เมื่อเทียบกับปัญหาการล้มตายของคนจำนวนมากจากเชื้อไวรัสร้าย แต่นี่ก็ไม่ใช่ปัญหาเล็กน้อยที่ “ผู้ใหญ่” ควรมองข้าม เพราะเด็กจำนวนมากกำลังเผชิญกับความยากลำบากทั้งทางร่างกายและจิตใจ

เมื่อเด็กไม่มีพ่อแม่หรือคนดูแลแล้ว ก็ต้องไปสถานสงเคราะห์หรือสถานเลี้ยงเด็กกำพร้าเท่านั้น แต่ในการทำงานช่วยเหลือเด็กในช่วงหลัง การส่งเด็กเข้าสู่สถานสงเคราะห์มักจะกลายเป็นขั้นตอนสุดท้าย และมุ่งไปหาญาติหรือคนดูแลใหม่ให้กับเด็กแทน อย่างไรก็ตาม หากเด็กเข้าไปอยู่ในบ้านที่ไม่พร้อม ก็จะส่งผลให้เกิดปัญหาเศรษฐกิจต่อครอบครัวนั้น ๆ หรือเกิดความเสี่ยงที่เด็กกลุ่มนี้จะพบเจอกับความรุนแรงต่าง ๆ รวมถึงการล่วงละเมิดทางเพศ และการเข้าสู่วงจรการค้ามนุษย์ เนื่องจากไม่มีคนที่จะปกป้องเขาอีกต่อไปแล้ว แล้วสังคมไทยควรรับมือกับปัญหาที่จะตามมาเหล่านี้อย่างไร

อ่านต่อ… “เด็กกำพร้า” ระเบิดเวลา หลังวิกฤตโควิด-19 

“ภาวะการเรียนรู้ถดถอย” ภัยเงียบที่กำลังกัดเซาะสังคม 

บทเรียนงานวิจัยเกี่ยวกับการพัฒนาเด็กปฐมวัย วางแผนสำรวจสถานะความพร้อมในการเข้าสู่ระบบการศึกษาของเด็กปฐมวัย (Thailand School Readiness Survey หรือ TSRS) ระบุว่า การปิดสถานศึกษาในช่วงการระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้เกิดปัญหาภาวะการเรียนรู้ถดถอย (Learning loss) กับเด็กปฐมวัยอย่างชัดเจน โดยการปิดเรียนช่วงโควิด-19 ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อทักษะด้านการเรียนรู้ของเด็กเล็กเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบไปถึงทักษะอื่น ๆ ที่จำเป็นในการใช้ชีวิตของเด็ก เช่น ทักษะการเข้าสังคม และทักษะการปรับตัว เป็นต้น 

 การศึกษาคือเครื่องมือที่สำคัญในการพัฒนามนุษย์ เช่นเดียวกับการสร้างประสิทธิภาพในการทำงานของคน เพราะฉะนั้น หากทุกภาคส่วนยังไม่ขยับตัวเริ่มแก้ไขปัญหาภาวะการถดถอยทางการเรียนรู้ของเด็ก ก็จะเกิดปัญหาว่า “เด็กในรุ่นที่โดนโควิด-19 จะมีทักษะต่ำกว่ารุ่นอื่น ๆ อย่างเห็นได้ชัด” และสิ่งที่ตามมาหลังจากนั้น คือการพัฒนาประเทศที่ลดน้อยลง เนื่องจากทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพไม่ได้รับการดูแลช่วยเหลือตั้งแต่ต้น

อ่านต่อ… “ภาวะการเรียนรู้ถดถอย” ภัยเงียบที่กำลังกัดเซาะสังคม

 “บูลลี่ในโรงเรียน” ปัญหาใหญ่ที่ไม่ใช่แค่ “เรื่องของเด็ก ๆ”

จากสถิติของกรมสุขภาพจิต ชี้ว่า ในปี 2563 เด็กไทยมีพฤติกรรมการกลั่นแกล้งหรือบูลลี่กัน เป็นอันดับที่ 2 ของโลก รองจากประเทศญี่ปุ่น หรือเด็กไทยโดนบูลลี่ปีละประมาณ 600,000 คน ซึ่งคิดเป็น 40% ของนักเรียนทั้งหมด และการบูลลี่ส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นกับเด็กนักเรียนชั้นมัธยม โดยเครือข่ายนักกฎหมายเพื่อเด็กและเยาวชน ได้ลงพื้นที่สำรวจความคิดเห็นเรื่อง “บูลลี่ กลั่นแกล้ง ความรุนแรงในสถานศึกษา” ในกลุ่มเด็กอายุระหว่าง 10 – 15 ปี จากทั้งหมด 15 โรงเรียน พบว่า เด็กร้อยละ 91.97 เคยถูกบูลลี่ ซึ่งวิธีการที่ใช้บูลลี่มากที่สุดคือ การตบหัว (ร้อยละ 62.07) ล้อบุพการี (ร้อยละ 43.57) พูดจาเหยียดหยาม (ร้อยละ 41.78) และอื่น ๆ เช่น นินทา ด่าทอ ชกต่อย ล้อปมด้อย พูดให้ร้าย เสียดสี และกลั่นแกล้งในโลกออนไลน์ 

 ปัญหาเรื่องการบูลลี่ในโรงเรียน ไม่ใช่ปัญหาที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยเท่านั้น แต่หลายประเทศทั่วโลกก็กำลังเผชิญกับปัญหาดังกล่าวอยู่ และมีแนวโน้มที่จะทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยรายงาน School Violence and Bullying: Global Status Report ขององค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ระบุว่า ประเด็นเรื่องการบูลลี่และความรุนแรงในโรงเรียนเกิดขึ้นทั่วโลก ทั้งส่งผลกระทบต่อเด็กและวัยรุ่นเป็นอย่างมาก มีการประเมินว่าเด็กและวัยรุ่นมากกว่า 246 ล้านคนทั่วโลก ต้องเผชิญกับความรุนแรงในโรงเรียน จากการโดนบูลลี่หลากหลายรูปแบบ

อ่านต่อ… “บูลลี่ในโรงเรียน” ปัญหาใหญ่ที่ไม่ใช่แค่ “เรื่องของเด็ก ๆ”

 “มาตรฐานชั่วโมงการทำงานของนักแสดงเด็ก” ข้อเสนอเพื่อการเติบโตของ “เด็กที่เป็นดารา” 

การที่เด็กได้ทำงานในวงการบันเทิงตั้งแต่เล็ก ส่งผลดีในแง่การเรียนรู้ประสบการณ์นอกห้องเรียน เช่นการทำงานของกองถ่าย หรือการร่วมงานกับนักแสดงที่มีคุณภาพ ซึ่งจะช่วยให้เด็กที่สนใจด้านการแสดงสามารถพัฒนาตัวเองได้อย่างรวดเร็วและเป็นธรรมชาติ คล้ายกับการเรียนภาษา ทว่าระยะเวลาการทำงานที่ยาวนาน และสิ่งแวดล้อมในกองถ่าย ก็สามารถส่งผลเสียต่อตัวเด็กได้อย่างรุนแรงทีเดียว

 พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ยังห้ามเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ทำงาน และห้ามเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี เข้าไปในสถานที่ทำงานที่มีความเสี่ยง เช่น โรงฆ่าสัตว์ สถานที่ที่มีการเล่นการพนัน ดื่มสุรา อีกทั้งประเทศไทยยังลงนามในอนุสัญญาว่าด้วยเรื่องการใช้แรงงานเด็กหลายฉบับ เช่น อนุสัญญาองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) หรืออนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิเด็ก ซึ่งล้วนแล้วแต่ระบุถึงคุณภาพชีวิตและสวัสดิภาพของเด็กทั้งสิ้น ทว่าในทางปฏิบัติกลับไม่เป็นเช่นนั้น

อ่านต่อ… “มาตรฐานชั่วโมงการทำงานของนักแสดงเด็ก” ข้อเสนอเพื่อการเติบโตของ “เด็กที่เป็นดารา”

6 หนังสือนิทานเพื่อการเติบโตของทุกคนในครอบครัว

“หนังสือนิทาน” กลายเป็นไอเท็มที่พ่อแม่หลายๆ ครอบครัวให้ความสำคัญอย่างมาก ด้วยเชื่อว่าเรื่องเล่าและแง่คิดต่างๆ จากนิทาน จะช่วยให้ความรู้ สร้างจินตนาการ รวมถึงปลูกฝังพฤติกรรมที่ดีให้กับลูกๆ ของตัวเอง ทำให้ทุกวันนี้ เรามักจะได้ยินเสียงของคุณพ่อคุณแม่ถามหาหนังสือนิทาน เพื่อนำไปใช้ในการสื่อสารกับลูกในประเด็นต่าง ๆ 

 แต่หน้าที่ของนิทานไม่ใช่แค่ให้ความสนุกสนานเพลิดเพลิน หรือสอนเด็กเท่านั้น แต่ยังมีบทบาทสำคัญต่อการเติบโตของสมาชิกในครอบครัวทุกวัยด้วย และนี่คือ 6 หนังสือนิทานเพื่อการเติบโตของทุกคนในครอบครัว จากการแนะนำของสุภลักษณ์ อันตนนา เจ้าของสำนักพิมพ์ SandClock Books ผู้จัดพิมพ์หนังสือเลี้ยงลูกและหนังสือนิทานแปลจากต่างประเทศ 

อ่านต่อ…6 หนังสือนิทานเพื่อการเติบโตของทุกคนในครอบครัว