ปากีสถาน ยังคงประสบปัญหาหนักในการป้องกันไม่ให้น้ำให้ทะเลสาบที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศล้นฝั่ง และท่วมบ้านเรือนที่อยู่รอบๆ หลังเพิ่งประสบเหตุอุทกภัยครั้งใหญ่เป็นประวัติการณ์ ขณะที่ หน่วยงานดูแลด้านภัยพิบัติของประเทศประกาศเพิ่มยอดผู้เสียชีวิตจากเหตุน้ำท่วมใหญ่อีก 24 ราย ในวันจันทร์ (5 ก.ย.65) ตามรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์

พายุมรสุมพร้อมฝนที่ตกหนักเป็นประวัติการณ์ ประกอบกับการละลายของธารน้ำแข็งบนยอดเขาทางเหนือของปากีสถานส่งผลให้เกิดน้ำท่วมหนักที่กระทบประชากรจำนวน 33 ล้านคนของประเทศ ทั้งยังคร่าชีวิตผู้คนไปแล้วอย่างน้อย 1,314 ราย ซึ่งรวมถึงเด็กๆ จำนวน 458 คน ตามข้อมูลจาก หน่วยงานจัดการภัยพิบัติแห่งชาติของปากีสถาน

เหตุอุทกภัยครั้งใหญ่นี้เกิดขึ้น หลังอุณหภูมิในช่วงฤดูร้อนของปากีสถานพุ่งสูงทำสถิติสูงสุดใหม่ ซึ่งทั้งรัฐบาลและองค์การสหประชาชาติต่างโทษว่า มีสาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลกที่ทำให้เกิดสภาวะอากาศรุนแรงสุดขั้วและความหายนะต่างๆ ที่ตามมา

เมื่อวันอาทิตย์ (4 ก.ย.65) ทางการปากีสถานทำการเปิดช่องในทะเลสาบน้ำจืดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศ เพื่อหวังลดความเสี่ยงไม่ให้น้ำล้นตลิ่งและท่วมบ้านเรือนในพื้นที่รอบๆ ที่มีผู้คนอยู่อย่างหนาแน่น แต่มาตรการดังล่าวก็ส่งผลให้มีประชาชนกลายมาเป็นผู้ผลัดถิ่นถึงราว 100,000 คนทันที

อย่างไรก็ตาม ระดับน้ำในทะเลสาบนี้ ซึ่งตั้งอยู่ทางภาคตะวันตกของแม่น้ำอินดัสในจังหวัดสินธ์ ทางภาคใต้ของประเทศ ยังคงอยู่ในระดับสูงที่เป็นอันตรายอย่างมาก

จาม คานธ์ โชโร รัฐมนตรีชลประทานของจังหวัดสินธ์ บอกกับผู้สื่อข่าวรอยเตอร์ว่า “ระดับน้ำมันทะเลสาบมันชาร์ยังไม่ลดลงเลย” แต่ปฏิเสธที่จะระบุว่า ทางการมีแผนจะทำการใดๆ เพื่อสูบน้ำออกจากทะเลสาบอีกหรือไม่

ทั้งนี้ เหตุอุทกภัยครั้งนี้ส่งผลให้เกิดวิกฤตมนุษยธรรมที่ขยายวงอย่างต่อเนื่องแล้ว โดยเจ้าหน้าที่ปากีสถานมีความกังวลอย่างมากเกี่ยวกับภาวะความเป็นอยู่ของสตรีมีครรภ์และแม่ลูกอ่อนทั้งหลายเป็นพิเศษ

รายงานที่อ้างข้อมูลของรัฐบาลจังหวัดสินธ์ ณ วันศุกร์ที่ผ่านมาระบุว่า มีสตรีมีครรภ์กว่า 400,000 คนที่กลายมาเป็นผู้พลัดถิ่นเพราะเหตุการณ์น้ำท่วมนี้ โดยมีเพียง 891 คนที่เดินทางไปถึงค่ายบรรเทาทุกข์ได้

การส่งความช่วยเหลือไปยังประชาชนผู้เดือดร้อนนั้นเป็นภาระใหญ่มากสำหรับเศรษฐกิจของปากีสถานที่อยู่ในฐานะลำบากและต้องพึ่งความช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศอยู่แล้ว

องค์การสหประชาชาติได้เรียกร้องขอเงินบริจาคเป็นจำนวน 160 ล้านดอลลาร์เพื่อช่วยเหลือเหยื่อน้ำท่วมในปากีสถานแล้ว แต่ มิฟตาห์ อิสมาอิล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ระบุระหว่างการให้สัมภาษณ์กับสื่อ CNBC ว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้นมีมูลค่าสูงกว่าตัวเลขดังกล่าวมาก และน่าจะสูงถึงเกือบ 10,000 ล้านดอลลาร์เลยทีเดียว

อย่างไรก็ดี องค์การสหประชาชาติและประเทศต่าง ๆ เช่น เติร์กเมนิสถาน และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ได้ส่งเครื่องบินนำความช่วยเหลือต่าง ๆ ถึงปากีสถานในวันจันทร์แล้ว ตามแถลงการณ์ของกระทรวงการต่างประเทศ