ทั่วโลกอาลัย สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธ สวรรคตพระชนมายุ 96 พรรษา ทรงเป็นกษัตริยาที่ทรงครองราชย์นานที่สุดของอังกฤษ ทรงอุทิศพระชนม์ชีพเพื่อพระราชกรณียกิจและพสกนิกร โดยเพิ่งทรงเฉลิมฉลองครบรอบ 70 ปี ในพระราชบัลลังก์ไปเมื่อต้นปีนี้

นับตั้งแต่ขึ้นครองราชย์เมื่อปี ค.ศ. 1952 ภายหลังการเสด็จสวรรคตของสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 ผู้ทรงเป็นพระราชบิดา สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธทรงดำรงตำแหน่งประมุขของประเทศ พร้อมทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจร่วมกับนายกรัฐมนตรีทั้งหมด 15 คน รวมทั้ง ทรงช่วยนำพาประเทศผ่านร้อนผ่านหนาวมาหลายช่วง ตั้งแต่พิษของสงครามโลกครั้งที่ 2 สงครามเย็น ภาวะฟองสบู่แตกหลังช่วงเวลารุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ ไปจนถึง ความขัดแย้งในไอร์แลนด์เหนือ และการก่อกำเนิดของสหภาพยุโรป รวมทั้งการที่อังกฤษขอถอนตัวออกมา หรือ เบร็กซิต

ประชาชนจำนวนมากของอังกฤษชื่นชมควีนเอลิซาเบธและการที่พระองค์ทรงทุ่มเทต่อพระราชกรณียกิจทั้งหลายเสมอมา รวมทั้ง การที่ทรงเป็นเสมือนเสาหลักของประเทศในช่วงที่อังกฤษค่อย ๆ ลดบทบาทในฐานะประเทศมหาอำนาจลง

และแม้พระองค์จะได้รับการกล่าวขานว่าเป็น กษัตริยาที่ทรงครองราชย์ยาวนานที่สุดของอังกฤษมาตั้งแต่เมื่อปี ค.ศ. 2015 สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธ​ยังคงทรงงานทุกวันมาตลอด โดยเคยตรัสไว้ว่า “เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เมื่อชีวิต ๆ หนึ่งจะผ่านพ้นช่วงเวลาสำคัญ ๆ ได้มากมาย ไม้เว้นแม้แต่ของข้าพเจ้าเอง”

การก้าวขึ้นครองราชย์

สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธ​ที่ 2 เมื่อครั้งทรงดำรงพระยศเป็นเจ้าหญิงเอลิซาเบธ ทรงถูกวางพระองค์ว่ามีสิทธิ์ขึ้นครองราชย์ในอนาคต หลังสมเด็จพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 8 ซึ่งทรงเป็นพระปิตุลา สละราชสมบัติในปี ค.ศ. 1936 เพื่ออภิเสกสมรสกับสตรีหม้ายชาวอเมริกัน โดยสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 ผู้ทรงเป็นพระราชบิดา ขึ้นครองราชย์ในฐานะประมุขของอังกฤษต่อตั้งแต่ปี ค.ศ. 1936 จนถึงปี ค.ศ. 1952 เมื่อพระองค์สวรรคตลง

ณ เวลานั้น เจ้าหญิงเอลิซาเบธซึ่งทรงมีพระชันษาเพียง 25 ปี กำลังทรงท่องเที่ยวอยู่ที่ประเทศเคนยา และเพิ่งฉลองพิธีเสกสมรสกับร้อยโทฟิลิป เมาท์แบทเทน เจ้าชายเชื้อสายกรีก ไปได้เพียง 4 ปี

หลังจากการสวรรคตของสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 ผ่านพ้นไป 1 ปี เจ้าหญิงเอลิซาเบธทรงเข้าร่วมพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในปี ค.ศ. 1953 ที่มหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ ซึ่งมีการถ่ายทอดสดไปทั่วโลกเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ โดยมีการประเมินว่า มีชาวอังกฤษราว 20 ล้านคนนั่งชมผ่านโทรทัศน์พร้อม ๆ กับคนอีกหลายล้านทั่วโลก ตามข้อมูลของ บีบีซี

ความสำเร็จในฐานะองค์พระประมุข

ผู้ที่สนับสนุนสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธ​ที่ 2 กล่าวว่า พระองค์ทรงมีบทบาทสำคัญในการช่วยประคับประคองสถาบันกษัตริย์ให้อยู่รอดได้ในอังกฤษ ในเวลาที่ สถาบันเบื้องสูงในหลาย ๆ ประเทศค่อย ๆ หมดความสำคัญลง

การที่ทรงเน้นเรื่องของ ‘ปฏิบัตินิยม’ และมุ่งปฏิบัติพระราชกรณียกิจโดยไม่สนใจการโอ้อวดใด ๆ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธ​ทรงได้รับความเคารพรักจากคนส่วนใหญ่ในอังกฤษรวมทั้งในต่างประเทศด้วย จนกลายมาเป็นหนึ่งในผู้ที่มีชื่อเสียงและผู้คนจดจำได้มากที่สุดของโลก

หนังสือพิมพ์ Express ของอังกฤษรายงานในปี ค.ศ. 2020 ว่า สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธ​ทรงเดินทางเป็นระยะทางทั้งหมดกว่า 1 ล้านไมล์ และทรงเยือนทั้งหมด 110 ประเทศ ทั้งยังเรียกพระองค์ว่าเป็น “ประมุขของรัฐที่เดินทางมากที่สุดตลอดกาล” ด้วย

ตลอดช่วงรัชสมัยของพระองค์ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธ​ที่ 2 ได้รับการจารึกว่าเป็นกษัตริย์พระองค์แรกของอังกฤษที่เสด็จเยือนจีนแผ่นดินใหญ่ในปี ค.ศ. 1986 และเป็นกษัตริย์พระองค์แรกในรอบ 100 ปีที่เสด็จเยือนสาธารณรัฐไอร์แลนด์ ในปี ค.ศ. 2011

ช่วงเวลาแห่งความยากลำบาก

แม้ว่าจะมีหนังสือ ภาพยนตร์ และรายการโทรทัศน์ ที่นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับพระองค์ออกมามากมาย แต่สมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธที่ 2 ไม่ทรงให้ความเห็นใด ๆ เกี่ยวกับเรื่องส่วนพระองค์เลย โดยภาพที่คนทั่วไปจดใจได้มักจะเป็นเรื่องที่ทรงชื่นชอบการแข่งม้า ฉลองพระองค์สีสันสดใส และสุนัขทรงเลี้ยงสายพันธุ์เวลช์คอร์กี้ เท่านั้น โดยไม่มีใครเคยได้ยินความเห็นของพระองค์เกี่ยวกับเรื่องอื่นใดเลย

ถึงกระนั้น สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธ​น่าจะเป็นผู้ที่ถูกสาธารณะจับตาตรวจสอบดูมากที่สุดคนหนึ่งตลอดช่วงระยะเวลาการครองราชย์

เมื่อปี ค.ศ. 1992 พระองค์ทรงระบุในพระราชดำรัสเนื่องในพระราชวโรกาสเฉลิมฉลองการครองราชย์ครบ 40 ปี ว่า ปีนั้น “กลับกลายมาเป็น ‘ปีอันแสนโหดร้าย’” หลังพระราชโอรสและพระราชธิดา 3 พระองค์ อันได้แก่ เจ้าฟ้าชายชาลส์ เจ้าชายแอนดรูว์ และเจ้าหญิงแอนน์ ต่างประกาศแยกทางหรือหย่าร้าง

ทั้งนี้ ชีวิตสมรสของเจ้าฟ้าชายชาลส์กับเจ้าหญิงไดอานาที่เต็มด้วยปัญหามากมาย คือ หนึ่งในสาเหตุของภาวะตึงเครียดภายาในพระราชวงศ์ เมื่อผู้คนจำนวนมากต่างแสดงความเห็นใจและเข้าข้างเจ้าหญิงไดอานามากกว่า

หลังการเสียชีวิตของเจ้าหญิงไดอานาในอุบัติเหตุทางรถยนต์ในปี ค.ศ. 1997 สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธ​ ทรงตกเป็นเป้าโจมตีและวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก เพราะพระองค์ไม่ทรงออกมาให้ความเห็นเกี่ยวกับเหตุการณ์นั้น และไม่เสด็จกลับพระราชวังบัคกิงแฮม จากพระตำหนักฤดูร้อนบัลมอรัล ทันทีที่ทรงทราบข่าว

และ 5 วันหลังจากการเสียชีวิตของเจ้าหญิงไดอานา สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธ​ทรงออกแถลงการณ์สดเพื่อไว้อาลัยต่อเหตุการณ์ครั้งนั้น ซึ่งหลายฝ่ายมองว่า เป็นเพราะแรงกดดันจากประชาชน

ในปี ค.ศ. 2019 เจ้าชายแอนดรูว์ พระโอรสองค์ที่ 2 ทรงประกาศถอนตัวจากการทำหน้าที่สมาชิกพระราชวงศ์ เนื่องจากกรณีข่าวฉาวว่าพระองค์ทรงพัวพันกับอภิมหาเศรษฐีชาวอเมริกัน เจฟฟรีย์ เอ็พสตีน ที่ถูกตัดสินว่า มีความผิดในคดีล่วงละเมิดทางเพศและฆ่าตัวตายระหว่างถูกจำขังในเรือนจำนครนิวยอร์ก

เจ้าชายแอนดรูว์ทรงถูกกล่าวหาโดยสตรีชาวอเมริกันรายหนึ่งว่า ทำการล่วงละเมิดทางเพศที่บ้านของเอ็พสตีน ซึ่งเป็นข้อกล่าวหาที่เจ้าชายแอนดรูว์ทรงปฏิเสธโดยสิ้นเชิง

นอกจากนั้น ยังมีกรณีของเจ้าชายแฮร์รี พระราชนัดดา และ เมแกน ดัชเชสแห่งซัสเซกส์ ที่ประกาศยุติบทบาทสมาชิกพระราชวงศ์ เนื่องจากปัญหาความตึงเครียดเกี่ยวกับการปฏิบัติกรณียกิจของราชวงศ์ ก่อนที่ทั้งคู่จะย้ายมาอาศัยอยู่ที่สหรัฐฯ และให้สัมภาษณ์ในปี ค.ศ. 2021 ที่มีเนื้อความกล่าวหามีการเหยียดเชื้อชาติต่อเมแกน โดยสมาชิกราชวงศ์ที่ไม่มีการระบุนาม แต่ยืนยันว่า ไม่ใช่สมเด็จพระราชินี

ภายหลังจากมีการเผยแพร่บทสัมภาษณ์นี้ออกมา สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธ​ทรงออกแถลงการณ์ที่ระบุว่า “มีการตรวจสอบ (ข้อกล่าวหาดังกล่าว) อย่างจริงจังแล้ว และจะมีการพูดคุยในเรื่องนี้เป็นการภายในพระราชวงศ์ด้วย”

เมื่อปี ค.ศ. 2021 กำลังใจมากมายยังหลั่งไหลไปยังสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธ​ที่ 2 หลังการสิ้นพระชนม์ของเจ้าชายฟิลิปในเดือนเมษายน หรือก่อนที่พระองค์จะฉลองครบรอบพระชนมายุ 100 พรรษาไม่กี่สัปดาห์

ตลอดช่วงระยะเวลาที่ทั้งสองพระองค์ทรงอยู่ร่วมกันเป็นเวลา 73 ปี เจ้าชายฟิลิปทรงยืนอยู่ข้างพระวรกายสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธตลอดเวลา

สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงกล่าวสรรเสริญพระราชสวามีภายหลังการสิ้นพระชนม์ว่า ทรงเป็น “แรงกำลังและที่พักพิง” ของพระองค์ตลอดช่วงเวลาที่ทรงอยู่ด้วยกันและการครองราชย์ของพระองค์ด้วย

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

  • พระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร สวรรคต
  • พระเจ้าชาร์ลส ที่ 3 มีพระราชดำรัส ต่อการเสด็จสวรรคตของควีนเอลิซาเบธที่ 2
  • การเปลี่ยนแปลงในอังกฤษ ภายใต้รัชกาล “พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3” พระราชาพระองค์ใหม่